pearleus

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560

มท.1 ประชุม บกปภ.ช. ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ กำชับจังหวัดพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังพร้อมเน้นย้ำจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อวางแผนฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน


เมื่อ 20 ม.ค. 60 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกัน ระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามโครงสร้าง บกปภ.ช. และ ผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ
ในโอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า การประชุมของ บกปภ.ช. ในวันนี้ มีการคอนเฟอเรนซ์ไปยังพื้นที่ประสบภัยด้วย เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้  พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางปฏิบัติตามที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานตรัสไว้ ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งภาพรวมสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีสถานการณ์บางพื้นที่ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ที่ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง และสงขลา เนื่องจากยังมีมวลน้ำในพื้นที่ปริมาณมาก ประกอบกับจากการติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ทราบว่าในระยะนี้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และจะมีฝนมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 20-22 ม.ค.นี้ บกปภ.ช.จึงได้เน้นย้ำจังหวัดเร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ นอกจากนี้ให้ประเมินและรวบรวมข้อมูลความเสียหายให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านชีวิต ด้านทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค ด้านคมนาคมและสิ่งสาธารณประโยชน์ สถานที่ราชการ และศาสนสถาน พร้อมทั้งให้จังหวัดจัดทำแผนฟื้นฟูเชิงโครงสร้างในภาพรวมทั้งระบบ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) พิจารณาต่อไป
สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงภัย ได้กำชับจังหวัดในการติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงต่างๆ ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง ให้จังหวัดเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง และเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว เพื่อรองรับฝนที่ตกลงมาในระลอกใหม่ นอกจากนี้ ในการสำรวจข้อมูลความเสียหาย ได้กำหนดแนวทางให้จังหวัดสำรวจและประเมินความเสียหายที่มีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยแยกตามประเภทพร้อมกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน ครอบคลุมในทุกด้าน โดยเฉพาะการสำรวจข้อมูลด้านทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย ให้แยกประเภทความเสียหายของบ้านเรือนเป็นเสียหายทั้งหลังและเสียหายบางส่วน (เสียหายน้อยและเสียหายมาก) เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เหมาะสม สำหรับการช่วยเหลือฟื้นฟู และได้กำชับให้ทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันกับหน่วยทหารในพื้นที่ ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งให้จังหวัดจัดทำแผนฟื้นฟูเชิงโครงสร้างในภาพรวมทั้งระบบอีกด้วย เพื่อเป็นข้อมูลเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประกอบการตัดสินใจต่อไป















0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น