pearleus

วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2560

สถาบันสุขภาพเด็กฯจับมือหลายหน่วยงาน เปิดโมเดลความสำเร็จ”บ้านปลอดบุหรี่” ชวนพ่อแม่มอบของขวัญให้ลูก “สุขภาพดี”

          
  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยผลสำรวจในผู้ป่วยเด็กที่มารับบริการที่สถาบันสุขภาพเด็กฯพบข้อมูลเด็กไทย1 ใน 5 ได้รับพิษภัยจากควันบุหรี่ภายในบ้าน และ 1 ใน 2ของเด็กมีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในอนาคต พร้อมเปิดโมเดลความสำเร็จในการดำเนินงาน“บ้านปลอดบุหรี่”หลังจับมือกับโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลต้นแบบ 10พื้นที่ทั่วประเทศทำงานเชิงรุกรณรงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะพ่อแม่และผู้ปกครอง ลด ละเลิก การสูบบุหรี่ภายในบ้าน เพื่อมอบสุขภาพดีอย่างยั่งยืนเป็นของขวัญปีใหม่และของขวัญวันเด็กให้แก่เด็กไทยทั่วประเทศ

            นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า สถาบันสุขภาพเด็กฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมโครงการ“บ้านปลอดบุหรี่” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เพราะตระหนักถึงพิษภัยของควันบุหรี่มือสองที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กเพราะจากการสำรวจข้อมูลพ่อแม่ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานมาตรวจรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กฯพบว่าร้อยละ 82ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่สูบบุหรี่มีการสูบบุหรี่ในบ้าน “โครงการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
: ขยายเครือข่ายในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่สู่ชุมชน เป็นการดำเนินงานในระยะที่ 3 เพื่อปกป้องสุขภาพของเด็กไทยในเชิงรุกภายใต้ความเชื่อว่าสุขภาพที่ดีเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำให้เกิดได้ด้วยตนเองโดยเริ่มต้นจากที่บ้าน เริ่มตั้งแต่เด็ก การทำให้บ้านที่เด็กอาศัยอยู่ให้ปลอดภัยและเอื้อต่อการมีสุขภาพดีของเด็กโดยร่วมกับโรงพยาบาลเครือข่าย10 แห่ง เพื่อขยายผลการดำเนินงานลงสู่ชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรณรงค์เพื่อให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพแบบยั่งยืนในประเด็นบ้านปลอดบุหรี่คือ การไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ไม่สูบบุหรี่ใกล้เด็กและคนท้อง ซึ่งผลสำรวจสถานการณ์บ้านปลอดบุหรี่ในผู้ป่วยเด็กที่มารับบริการใสสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 1,022 ครอบครัว ซึ่งเป็นชุมชนเมือง พบว่าเด็กไทย 1 ใน 5 หรือร้อยละ 21.7 ได้รับพิษภัยจากบุหรี่มือสองภายในบ้าน และเกือบ  1 ใน 2 คิดเป็นร้อยละ 45.7 ของเด็กยังยังเติบโตขึ้นมากับความเสี่ยงในการมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ในอนาคต”
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

                   แพทย์หญิงนัยนา    ณีศะนันท์ ประธานโครงการฯ กล่าวว่าสถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนและขยายผลโครงการบ้านปลอดบุหรี่ตลอดระยะเวลา
9 ปี พบว่าได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวของสังคมไทยต่อ “บุหรี่มือสอง” นอกจากนี้ยังพบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่โดยนำเอาประเด็นของ “ความรักและความปรารถนาดี”ที่มีต่อลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวมาเป็นเครื่องมือสร้างความรู้ ความตระหนักและความเข้าใจ ทำให้สมาชิกในครอบครัวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการสูบในบ้านออกไปสูบนอกพื้นที่บ้าน จนกระทั่งสามารถลดละเลิกได้ ขณะนี้เป็นการทำงานระยะที่ 3 เป็นการขยายเครือข่ายในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่สู่ชุมชน 10 แห่ง โดยผลการดำเนินงานในชุมชนนำร่อง 1,441 หลังคาเรือน มีผู้สูบุหรี่ในบ้านร้อยละ 13  และเป็นการสูบที่มีเด็กหรือคนท้องอยู่ในบ้านถึงร้อยละ 60 แต่ภายหลังการรณรงค์บ้านปลอดบุหรี่ พบว่าผู้สูบบุหรี่ออกไปสูบนอกพื้นที่บ้านร้อยละ 40 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่มีเด็กและคนท้อง พบว่าสมาชิกในครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงของการพฤติกรรมการสูบเกิดสถานการณ์บ้านปลอดบุหรี่เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 60 จนกระทั่งสามารถลดละเลิกได้เป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 6 จากกลุ่มตัวอย่าง  “โมเดลในการทำงานร่วมกับชุมชนในระยะที่ 3 ผ่านโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นผู้ลงไปติดตามและกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องบ้านปลอดบุหรี่ถึงในระดับครัวเรือนอย่างสม่ำเสมอได้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนต่อพฤติกรรมของการสูบบุหรี่ภายในบ้านหรือแม้กระทั่งสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนได้มากที่สุดซึ่งสามารถนำแนวทางการดำเนินงานต่างๆเหล่านี้ไปขยายผลสร้างบ้านปลอดบุหรี่เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืนของเด็กไทย เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนไทยที่ไม่สูบบุหรี่ภายในบ้านเกิดเป็นชุมชนไม่สูบบุหรี่ในบ้านและสูบบุหรี่ให้ห่างไกลจากเด็กที่สามารถขยายผลไปสู่การลด ละ เลิกพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทยรวมไปถึงป้องกันการเกิดขึ้นของนักสูบหน้าใหม่อย่างได้ผลและยั่งยืน”
แพทย์หญิงนัยนา ณีศะนันท์ ประธานโครงการ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงโครงการบ้านปลอดบุหรี่ว่า ปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่ ลด ละ เลิกพฤติกรรมการสูบบุหรี่ได้นั้นจะต้องเริ่มจากการไม่สูบบุหรี่ภายในบ้านก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งในหลายประเทศดัชนีของการไม่สูบบุหรี่ภายในบ้านนั้นถือเป็นข้อมูลสำคัญที่บ่งชี้ถึงคุณภาพของการดูแลรักษาสุขภาพของประชากรในประเทศ “การไม่สูบบุหรี่ภายในบ้านนั้นจะเกิดผลดีที่เห็นได้ชัดอยู่ 4 ข้อคือ หนึ่งตัวของผู้สูบก็จะสูบบุหรี่น้อยลง สองคนในครอบครัวก็จะไม่ได้รับพิษภัยจากควันบุหรี่มือสองสามเด็กจะปลอดภัยจากควันบุหรี่มือสองที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และสุดท้ายคือผู้ที่สูบบุหรี่เองจะมีแนวโน้มที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้ง่ายมากยิ่งขึ้นซึ่งจากข้อมูลการทำงานของโครงการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ที่พบว่าผู้ปกครองสูบบุหรี่ภายในบ้านลดลงเมื่อได้รับความรู้ข้อมูล การติดตาม และกระตุ้นจากเครือข่ายอย่างต่อเนื่องเป็นแนวโน้มที่ดีของสถานการณ์บุหรี่ในครอบครัวไทย ที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันขยายผลการดำเนินงานและร่วมกันสร้างค่านิยมการไม่สูบบุหรี่ภายในบ้านออกไปทั่วประเทศให้มากยิ่งขึ้น”
สำหรับวาระโอกาสการขึ้นปีใหม่และวันเด็กในปีนี้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จึงขอเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองและคนไทยทุกคนร่วมมอบของขวัญชิ้นสำคัญให้กับเด็กไทย ด้วยการสร้าง “บ้านปลอดบุหรี่”ให้บ้านของเด็กไทยทุกคนห่างไกลและปลอดภัยจากควันบุหรี่ เพื่อร่วมกันสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับลูกหลานของเราที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น