pearleus

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ วางแนวทางแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือ กำชับจังหวัดดูแลการดำรงชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเร่งฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมในทุกด้าน

เมื่อ 16 ม.ค. 60  เวลา 10.00 น. ที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ที่เกี่ยวข้อง 12 สปฉ. เข้าร่วมประชุมฯ
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้ขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งสิ้น 12 จังหวัด โดย บกปภ.ช ส่วนหน้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี รายงานว่าขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายลงแล้ว แต่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์ รวม 36 อำเภอ 189 ตำบล 1,309 หมู่บ้าน ซึ่งทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วแล้ว ประกอบกับจากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 16-20 มกราคม 2560 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง ส่งผลกระทบในพื้นที่บางจังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา จึงขอให้จังหวัดพื้นที่ดังกล่าว เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย และหากพื้นที่ใดมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการหรือเกินขีดความสามารถของจังหวัดในการปฏิบัติแล้ว ขอให้แจ้ง บกปภ.ช.ส่วนหน้า และส่วนกลางทราบโดยด่วน เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือต่อไป และจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือกรณีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ บกปภ.ช. จะได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่ง รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไปประสานการปฏิบัติในระดับพื้นที่ เพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และมิให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
นอกจากนี้ ที่ประชุม บกปภ.ช. ยังได้เน้นย้ำให้จังหวัดบูรณาการหน่วยปฏิบัติระดับพื้นที่ ดูแลด้านการดำรงชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พร้อมเร่งเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยสำรวจข้อมูลผู้เสียชีวิตให้รอบด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงประสานสาธารณสุขและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อป้องกันโรคระบาด รักษาอาการเจ็บป่วย และเยียวยาสภาพจิตใจ ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูที่ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านชีวิต
และทรัพย์สิน ด้านการประกอบอาชีพ อาทิ การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ รวมถึงด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ โดยเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติตามหนังสือสั่งการที่ได้แจ้งไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่า
 ข้อบัญญัติ 10 ประการ โดยให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในพื้นที่อย่างจริงจังและเคร่งครัด รวมทั้งเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ประสบภัย และ บกปภ.ช. ส่วนหน้า (ศปภ.เขต 11 สุราษฎร์ธานี) รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่โดยภาพรวม ต่อที่ประชุมส่วนกลางอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤตที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัย สถานภาพจุดอพยพต่างๆ สิ่งสาธารณประโยชน์ที่ได้รับผลได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจน
การเฝ้าระวังในพื้นที่ที่ได้มีการเตรียมพร้อมต่างๆ รวมถึงกรณีพื้นที่ภัยยุติแล้ว โดยขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่วิกฤตเพิ่มเติมจากที่ได้แจ้งไปก่อนแล้ว ดังนี้ 1) ให้ตรวจสอบว่าประชาชนที่ประสบอุทกภัยมีน้ำดื่มสะอาดเพียงพอหรือไม่ หากไม่เพียงพอขอให้จังหวัดประสาน ผจก.การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัด/สำนักงานสาธารณสุข/หน่วยงานสังกัดกระทรวง ทส.หรือหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่รวมทั้งใช้งบประมาณในอำนาจของจังหวัดจัดหาน้ำดื่มสะอาดไปแจกจ่ายประชาชนเหล่านั้น 2) ให้จังหวัดแจ้งศึกษาธิการจังหวัดเพื่อสำรวจจำนวนนักเรียน นักศึกษาและโรงเรียน สถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจนไม่สามารถเปิดการเรียน การสอนได้ตามปกติแล้วประสานงานหน่วยราชการอื่นๆที่มีสถานที่เพื่อขอใช้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนทดแทนโรงเรียน สถาบันการศึกษาที่ถูกน้ำท่วม เช่น อาคารหอประชุมส่วนราชการอื่นๆ หรือ อปท.ในพื้นที่ สำหรับยานพาหนะในการรับส่งนักเรียนนักศึกษาอาจขอความร่วมมือสำนักงานขนส่งจังหวัดหรือหน่วยทหารในพื้นที่หรือภาคเอกชนสนับสนุนด้วยก็ได้ และ 3) สำหรับในพื้นที่น้ำท่วมขังเริ่มเน่าเสียซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนนั้น ขอเน้นย้ำให้รีบประสานหน่วยงานชลประทาน/อปท. หรือหน่วยงานอื่นๆ ได้เร่งรัดสูบน้ำเสียเหล่านั้นออกไปให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักวิธีป้องกันตนเองจากโรคหลังน้ำท่วมด้วย
สุดท้าย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ขอให้จังหวัดเร่งสำรวจพื้นที่และแก้ไขปัญหา พร้อมให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งขณะนี้แต่ละจังหวัดมีวงเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด (50 ล้านบาท) สำหรับแก้ไขปัญหาในระยะยาว ขอให้จังหวัดและ บกปภ.ช. ส่วนหน้าได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งการรวบรวมข้อมูล และการสำรวจความเสียหาย เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในคราวที่จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมน้ำท่วมฯ เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือฯ ต่อไป




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น