pearleus

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

กระทรวงมหาดไทย สั่งด่วน ผู้ว่าฯ - นายอำเภอ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย

กระทรวงมหาดไทย สั่งด่วน ผู้ว่าฯ - นายอำเภอ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย พร้อมแนะให้เร่งจัดทำแหล่งกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาในขณะนี้หรือน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ไว้ใช้ในฤดูแล้ง


    เมื่อ 25 ก.ย. 59 เมื่อเวลา 00:15 น. นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดภาคใต้)

    โดยให้จังหวัดบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วมเนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำยม และลุ่มนำ้ปิงในภาคเหนือได้ไหลเข้าสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ และไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบกับบางพื้นที่มีปริมาณฝนตกมาก เช่น ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง เป็นต้น ทำให้เกิดนำ้ท่วม  ซึ่งเกิดจากปริมาณนำ้ฝน ที่ไหลจากพื้นที่สูงหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ที่ราบตำ่ และปริมาณนำ้สูงล้นฝั่งแม่นำ้เจ้าพระยาเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งแม่นำ้ ขณะเดียวกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีภาวะฝนตกหนักในบางพื้นที่ด้วย

     ดังนั้น จึงให้จังหวัดเร่งดำเนินการจัดตั้ง "กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยจังหวัด"  เพื่อใช้เป็นศูนย์บัญชาการและบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

      และให้ทุกพื้นที่ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มความถี่ในการลงพื้นที่ตรวจตราสภาพนำ้และหรือรับฟังปัญหาต่างๆจากประชาชนในพื้นที่ให้เป็นประจำ หรือจัดเวรหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดลงไปอำนวยการแก้ไขปัญหาประจำพื้นที่ด้วย

    ด้านการติดตามสถานการณ์สภาพนำ้ให้มีการประสานงานกับหน่วยงานชลประทาน และอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อการบริหารจัดการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการปิด - เปิดประตูนำ้เขื่อนชัยนาทหรือเขื่อนเจ้าพระยาให้คำนึงถึงความเร็วในการไหลของน้ำในแม่นำ้เจ้าพระยาจากภาคเหนือ และน้ำจากปริมาณฝนตกในพื้นที่แล้วไหลลงสมทบ(side flow)มารวมในลำน้ำเจ้าพระยาซึ่งจะทำให้ความเร็วในการไหลของนำ้และปริมาณน้ำจะเพิ่มมากขึ้นทำให้ระดับนำ้สูงด้วย

  นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ยังได้ให้ขอแนะนำจังหวัดในด้านการกักเก็บนำ้ไว้ใช้ในฤดูแล้ง ในกรณีนำ้ฝนที่ตกค้างท่วมอยู่ในพื้นที่บางแห่งนั้น ให้จังหวัดประสานงานกับชลประทานพื้นที่ ปภ.เขตพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หรือหน่วยทหาร เพื่อพิจารณาใช้เครื่องสูบนำ้ ระหัดวิดน้ำ หรือทำลำรางดึงนำ้ไปกักเก็บไว้ในบ่อ บึง อ่างน้ำ หรือแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก หรือหาทางทำเหมือง ฝายกั้นนำ้ เขื่อนยาง หรือฝายยาง สระน้ำเทียม หรืออื่นๆ  เพื่อเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย โดยให้พยายามดำเนินการให้ได้อย่างน้อย "1 จุดเก็บกักนำ้ต่อ 1 ตำบล"  ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามหลักการบริหารจัดการนำ้ท่วม และนำ้แล้ง ด้วยการทำแก้มลิงเก็บนำ้ตามพระราชดำริฯ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538 ที่ได้ส่งรายละเอียดให้จังหวัด/อำเภอได้ศึกษาแนวทางไว้แล้ว

    และให้ทุกพื้นที่ติดตามประเมินสถานการณ์นำ้หากในพื้นที่ใดที่นำ้ยังไม่ท่วม ให้จังหวัดหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในศูนย์อำนวยการฯ จังหวัด หรือหน่วยงานอื่นๆ ใช้เทคโนโลยี (IT) หรือระบบข้อมูลหรือโปรแกรมการคำนวณเพื่อประเมินหรือคาดการณ์ว่า ปริมาณนำ้ที่ไหลท่วม จะเข้ามาถึงพื้นที่เมื่อใดเพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบโดยเร็วเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยกลางในการประสานกับจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่และในส่วนกลาง เพื่อเร่งระดมนำเครื่องสูบนำ้ไปติดตั้งตามจุดต่างๆที่คาดว่าจะสามารถสูบนำ้ออกได้

    สำหรับการแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยนำ้ท่วม ขอให้กำหนดหน่วยรับผิดชอบประจำพื้นที่ให้ชัดเจน โดยอาจมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด (พชจ.) เป็นหน่วยบรรเทาทุกข์หรือเยียวยาผู้ประสบภัยร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) รวมทั้ง มอบหมายให้ พมจ.เป็นหน่วยประสานงานการเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคจากภาคเอกชนและเหล่ากาชาดจังหวัด รวมทั้งมูลนิธิ หรือองค์กรกุศลต่างๆไว้เสริม หรือแจกจ่ายให้เพียงพอต่อความต้องการ อย่าให้ซำ้ซ้อนหรือเกิดความขัดแย้งกัน

   ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยประจำพื้นที่ ลงพื้นที่กำกับติดตามการปฎิบัติของหน่วยปฎิบัติตามข้อสั่งการดังกล่าวแล้ว รวมทั้ง ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทยประจำพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ประสานงาน กับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด ในการให้คำแนะนำ หรือประสานงานกับหน่วยงานในส่วนกลางเพื่อสนับสนุน การปฎิบัติงานในการดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น