pearleus

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กอ.รมน.จังหวัด ส.ค.

เมื่อ ๖ ก.ค. ๕๙ เวลา ๐๙.๐๐ น.๑๒.๐๐ น. พ.อ.จักราวุธ   สินพูลผล รอง ผอ.รมน.จังหวัด ส.ค. เป็นประธานการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมพิจารณาแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ณ ห้องประชุม ๕๐๒ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย
๑. ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สมุทรสาคร
 ๒. หัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติฯ
 ๓. ป่าไม้จังหวัด
 ๔. จนท.สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ ๗ (สมุทรสงคราม)
 ๕. จนท.สนง.เจ้าท่าภูมิภาค สาขาสมุทรสาคร
 ๖. ผอ.นิคมสหกรณ์บ้านไร่ / โคกขาม
 ๗. ผู้แทนศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ป่าชายเลน
จากประเด็นปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ประชุมได้พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการระวังชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดิน พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๒ ง ลงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๙ หน้า ๒ (ข)  ในกรณีแนวเขตอยู่ล้ำเข้าไปในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ และทะเลภายในน่านน้ำไทยเนื่องจากถูกน้ำกัดเซาะ ให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์สอบสวนว่าที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะยังคงเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองอยู่โดยเจ้าของที่ดินได้ครอบครองหรือแสดงสิทธิในการหวงกันอย่างต่อเนื่องหรือไม่ โดยให้พิจารณาจากเอกสารหลักฐานอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
๑) หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือหลักฐานที่ดินตามกฎหมายอื่น
๒) ระวางที่ดินและภาพถ่ายทางอากาศ
๓) หลักฐานการครอบครองหรือแสดงสิทธิในการหวงกันอย่างต่อเนื่อง
๔) หนังสือจากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่แสดงว่าเจ้าของที่ดินได้ครอบครองหรือแสดงสิทธิในการหวงกันอย่างต่อเนื่อง
๕) เอกสารหลักฐานอื่นที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์สอบสวน (ถ้ามี)
หากปรากฏว่าเจ้าของที่ดินยังคงครอบครองหรือแสดงสิทธิในการหวงกันอย่างต่อเนื่องตามแนวเขตที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะนั้น ให้ถือว่าแนวเขตที่ดินที่ยังคงมีการครอบครองหรือแสดงสิทธิในการหวงกันอยู่นั้นเป็นแนวระวังชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดิน และให้แจ้งช่างรังวัดปักหลักเขตที่ดินตามที่ได้มีการระวังชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดิน
หากปรากฏว่าเจ้าของที่ดินมิได้ครอบครองหรือแสดงสิทธิในการหวงกันที่ดินดังกล่าวโดยปล่อยให้เป็นที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ให้เจ้าหน้าที่ระวังชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินตามแนวเขตที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะ โดยพิจารณาจากสภาพขอบฝั่ง สภาพของตลิ่งที่ดินข้างเคียง และทางน้ำของแต่ละพื้นที่ประกอบด้วย และให้แจ้งช่างรังวัดปักหลักเขตที่ดินตามที่ได้มีการระวังชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดิน
จากข้อกฎหมายดังกล่าว ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ ชุดประเมินผลฯ กอ.รมน.จังหวัด ส.ค. ประสานงานไปยัง สนง.ที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อขอดูเอกสารสิทธิ์ทุกประเภท ทุกราย ในที่ดินบริเวณที่ติดกับชายฝั่งทะเลของ ต.บ้านบ่อ เพื่อเชิญเจ้าของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ เข้าร่วมพิจารณาแนวทางในการร่วมปกป้องผืนดินบริเวณชายฝั่งทะเล มิให้ถูกกัดเซาะทำลายไปมากกว่านี้ จากการประสานงานกับผู้ดูแลที่ดินภาคเอกชนรายหนึ่ง ( บริษัท กระทิงแดง) ยินดีให้ความร่วมมือกับทางราชการ ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นนโยบายในการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของบริษัทอยู่แล้ว ชุดประเมินผล กอ.รมน.จังหวัด ส.ค.จะประสานงานเพื่อเชิญผู้แทนบริษัท กระทิงแดง และเจ้าของที่ดินรายอื่น ในเขต ต.บ้านบ่อ เข้าร่วมพิจารณาแนวทางดำเนินการต่อไป
จุดแข็งในการปฏิบัติงาน : ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีข้อกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอยู่แล้ว โดยไม่ต้องใช้กฎหมายหรือวิธีการพิเศษอื่น ๆ เพียงแค่ร่วมกันพิจารณาแนวทางอื่น ๆ ประกอบ พร้อมด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนทุกด้าน ปัญหาที่มีอยู่ก็สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นระบบ และไม่ไปสร้างปัญหาอื่น ๆ ตามมา
จุดอ่อนในการปฏิบัติงาน : ข้อมูลพื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่เกษตรกรรม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังมีตัวเลขที่คลาดเคลื่อนจากพื้นที่จริงในปัจจุบัน การคำนวณพื้นที่ป่าชายเลน จะใช้วิธีการแปรภาพถ่ายทางอากาศ แล้วบันทึกเป็นตัวเลข ทำให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง
ชุดประเมินผลฯ กอ.รมน.จังหวัด ส.ค. จะรายงานผลการปฏิบัติ การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ให้ทราบต่อไป ....จ.ส.อ.ชัยวัฒน์   ตองกลิ่น   ผู้รายงาน




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น