pearleus

วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

สหกรณ์การเกษตรเตรียมล่าล้านชื่อ ขับขรก.ปล้น"โซล่าร์ฟาร์ม" เมษานี้ วอนนายกฯยืนราคา5.66บาท/หน่วย


ตามที่ได้มีการเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องกรณีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนภาคพื้นดินหรือโซล่าร์ฟาร์ม สำหรับสหกรณ์การเกษตร รอบสองจำนวน 119 เมกะวัตต์ ให้เป็นระบบการประมูล แทนการจับสลากที่ใช้ดำเนินการในรอบแรก และจะรับซื้อในอัตราตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ Feed in Tariff  ในราคา 4.12 บาท/หน่วยแทนราคาเดิมในเฟสแรกคือ 5.66 บาท/หน่วย ทำให้ตัวแทนจากกลุ่มสหกรณ์การเกษตรจากภาคต่างๆทั่วประเทศได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านถึงนายกรัฐมนตรี และแถลงความเห็นผ่านสื่อหลายครั้งเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ระงับข้อเสนอของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ที่เสนอต่อกพช.ในการประชุมวันที่ 17 ก.พ.60 ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุด(28 ก.พ.)ตัวแทนจากสหกรณ์การเกษตรจากทั่วประเทศกว่าพันแห่งพร้อมข่ายและครอบครัวของสมาชิกสหกรณ์ฯ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.), คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)และสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และเดินทางไปยังยื่นหนังสือร้องเรียนจ่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณ กระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดีรังสิต
ทั้งนี้ได้ขอให้ยืนราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซล่าฟาร์ม ที่ราคา 5.66 บาท/หน่วย และขอให้นำโควต้าราชการที่ไม่สามารถดำเนินการได้มาให้เกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ และสวัสดิการตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
พร้อมกันนั้นศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ ประธานมูลนิธิลดโลกร้อน นายบรรยงค์ อัมพรตระกูล ประธานเครือข่ายปราบโกงแห่งชาติ นายปฏิพล เกตุรัตนัง ประธานสหกรณ์การเกษตรนาบอน นายปัญญา ช้างเจริญ ประธานสหกรณ์นิคมสมุทรสาคร จำกัด นางอัมพร จิตต์ประกอบ รองประธานสหกรณ์การเกษตรบางขุนเทียน ฯ แถลงยืนยันอีกครั้งในหัวข้อ"หยุดเบียดเบียนเกษตร..สู้เพื่อ 5.66 บาทและโควต้าที่เป็นธรรม"
ศ.ดร.สุนทร กล่าวว่า หากสนพ.ยังไม่ยึดหลักดำเนินนโยบายโซล่าร์ฟาร์ม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศอย่างแท้จริง ตามนโยบายที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมาย ทางเครือข่ายสหกรณ์ภาคการเกษตร คงต้องรวบรวมรายชื่อจากสหกรณ์ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านรายชื่อ เรียกร้องให้เปลี่ยนตัวข้าราชการที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมและจะดำเนินการจนถึงที่สุดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เนื่องจากโซล่าร์ฟาร์ม ไม่ใช่ทำเพื่อผู้ประกอบการเอกชน ราคาต้อง 5.66บาท/หน่วย เพื่อเป็นสวัสดิการแก่เกษตร ซึ่งเหมาะสมแล้ว รัฐไม่ควรมาเบียดเบียนเงินสวัสดิการเกษตรกร อันที่จริงรัฐบาลนี้ควรทำให้ดีกว่ารัฐบาลเดิม  เนื่องจากเป็นความตั้งใจให้เป็นสวัสดิการของการเกษตรและราชการ ซึ่งการแบ่งโควต้าให้สหกรณ์ 400 เมกะวัตต์ และราชการ 400 ก็ไม่มีความเป็นธรรมอยู่แล้ว เพราะเกษตรกรมีถึง30-40ล้านคน เขาไม่มีสวัสดิการใดๆ ขณะที่ราชการมีจำนวน2-3 ล้านกว่ามีสวัสดิการมากกว่าในทุกด้าน
"การรับซื้อที่จะกดราคาลงมา ก็เช่นกัน เราต้องคิดเผื่อเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่คิดในเชิงพาณิชย์เอาราคา 4.12 ซึ่งเป็นราคาเฉพาะต้นทุนกำไรในการก่อสร้างเท่านั้น จึงไม่เข้าใจว่าสนพ.เปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ใครกันแน่ การทำอย่างนี้เสียภาพพจน์รัฐบาลชุดนี้" ศ.ดร.สุนทร กล่าว
นายบรรยงค์ ระบุว่า ถ้ากำหนดราคาเหลือแต่กระดูก เกษตรกรจะได้อะไร ราคา 4.12บาท/หน่วย เป็นราคาที่นักลงทุนจัดสร้าง แต่จะไม่เหลือสวัสดิการให้ใคร เป็นแนวคิดเชิงพาณิชย์เพื่อฮุบโครงการ ซึ่งโซล่าร์ฟาร์ม เป็นโครงการประชารัฐ ที่รั ฐบาลไม่ควรคิดเล็กคิดน้อย ควรมีวิสัยทัศน์กว้างๆ
"เกษตรมีถึง40ล้านคน มากกว่าข้าราชการถึง20 เท่า อย่าพยายามเปลี่ยนกติกาเพื่อเปิดทางให้กลุ่มทุนเดิมที่เป็นพวกตัวเองเขามาเลยครับ พวกเราอยากให้นายกพิจารณาและทบทวน บทบาทของ สนพ.ใหม่นะครับ ใช้ม.44 ดูก็จะดีครับ" นายบรรยงค์ กล่าว
นายปฏิพล กล่าวว่าตนขอกล่าวในฐานะตัวแทนสหกรณ์การเกษตร เรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ขอให้คงราคารับซื้อเดิม 5.66 บาท/หน่วย เช่นเดียวกับเฟสแรกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 2.ให้โอนโควต้าของหน่วยงานราชการที่เหลือมาให้เกษตร 3.ให้คงระเบียบการจับสลาก เพราะเกิดความโปร่งใส ยุติธรรมและเสมอภาคดีอยู่แล้ว
"ผมมาทวงสิทธิ์โควต้าที่เป็นธรรม ทวงสิทธิ์ ความโปร่งใส เสมอภาค ทวงสิทธิ์ความยุติธรรมให้เกษตร อาจล่าชื่อ1ล้านคนร้องเรียนนายกฯพิจารณาข้าราชการไม่โปร่งใส" นายปฏิพน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ มีลูกหลานของกลุ่มสหกรณ์ มาร่วมรับฟังเกี่ยวกับโครงการร่วมกับพ่อแม่  และได้แสดงการคัดค้านและเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีผ่านสื่อมวลชนด้วย
อย่างไรก็ตามในส่วนของกระทรวงพลังงาน ได้ยืนยันเสนอเปิดประมูลโครงการโซล่าร์ฟาร์มสหกรณ์รอบสอง จำนวน119 เมกะวัตต์ ต่อที่ประชุม กพช. เมื่อวันที่ 17 ก.พ.60  ระบุว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าร่วมโครงการ ของกลุ่มสหกรณ์ตามที่มีการกล่าวอ้าง พร้อมเสนอ 2 แนวทาง สำหรับโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการ 400 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ หลังติดปัญหาพ.ร.บ.ร่วมทุน  ว่าจะยกเลิกไปเลยหรืออาจให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ
สำหรับโครงการโซล่าร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์การเกษตร มีจำนวน800 เมกะวัตต์  แบ่งโควต้าให้ ดำเนินการในส่วนของพื้นที่ของหน่วยงานราชการจำนวน  400 เมกะวัตต์ และสหกรณ์การเกษตรอีก 400 เมกะวัตต์  ส่วนของสหกรณ์ฯ ในรอบแรก เปิดรับซื้อไฟฟ้าไปแล้ว 300 เมกะวัตต์ โดยใช้วิธีการจับสลาก  โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 281 เมกะวัตต์ ที่เหลืออีก 19 เมกะวัตต์ จะนำไปรวมกับรอบที่สอง อีก 100 เมกะวัตต์ รวมเป็น119 เมกะวัตต์ ที่จะใช้วิธีการประมูลแข่งขันกัน โดยผู้ประกอบการรายใดที่เสนอ ขอรับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าในรูปของ Feed in Tariff น้อยที่สุด จากที่ตั้งเกณฑ์ไว้ 4.12 บาท/หน่วย ก็จะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าเป็นลำดับแรก เรียงลำดับไปจนครบจำนวน 119 เมกะวัตต์  
ส่วนโควต้าหน่วยงานราชการ จำนวน400 เมกะวัตต์ นั้น ยังไม่สามารถดำเนินการเปิดรับซื้อได้เลยแม้แต่รายเดียว  เพราะติดปัญหาพ.ร.บ.ร่วมทุน  


      


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น