pearleus

วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปมท. เป็นประธานการประชุม กปภ.ช. ติดตามสถานการณ์ภัย กำชับจังหวัดเร่งบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างเข้มข้น พร้อมเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง และเร่งฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้


เมื่อ 10 มี.ค. 60 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายกฤษฎา  บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ติดตามการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย โดยเฉพาะไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ สถานการณ์ภัยแล้ง และการช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ โดยมีการประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งถ่ายทอดการประชุมผ่านไปยังอำเภอต่างๆ เพื่อติดตามสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งซักซ้อมสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการการปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมติดตามสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมของจังหวัดและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
     นายกฤษฎา  บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ ตนได้รับมอบหมายจาก พลเอก อนุพงษ์  เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีความห่วงใยสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด โดยการประชุมวันนี้ได้มีการติดตามสถานการณ์สาธารณภัยในช่วงที่ผ่านมา และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ 2.การเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งขณะนี้เริ่มเข้าสู่ภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในด้านน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น และ 3.การติดตามการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
     สำหรับปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้มีการสั่งการให้จังหวัดเตรียมความพร้อมในดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยบูรณาการการทำงานผ่านกลไก “ประชารัฐ” และวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ เน้นการแบ่งหน้าที่และพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้มีการจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและอำเภอ จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังและระงับเหตุไฟป่า พร้อมระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครภาคประชาชนจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง ตลอดจนคุมเข้มไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชน หมู่บ้าน และพื้นที่ริมทาง และรณรงค์ให้เกษตรกรใช้วิธีไถกลบเศษวัสดุทางการเกษตรแทนการเผา หรือใช้สารอินทรีย์ย่อยสลายตอซัง ควบคู่กับการจัดทำข้อตกลงของชุมชนประกาศเขตห้ามเผาในพื้นที่หมู่บ้านหรือพื้นที่บุกรุกทำไร่เลื่อนลอยอย่างเด็ดขาด มีการระดมวัสดุอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองหมอกควันในอากาศ รวมทั้งเร่งสร้างความตระหนักถึงปัญหาโดยให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตลอดจนประชาสัมพันธ์ถึงผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวผ่านสื่อต่างๆ ในพื้นที่ในทุกช่องทาง
     โอกาสนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มอบแนวทางการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยได้เน้นย้ำ 2 วิธีการปฏิบัติ ได้แก่ 1.การควบคุมพื้นที่ และกลุ่มคนที่จะเข้าไปในพื้นที่ โดยเน้นการกำกับดูแลป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นซ้ำอีก และให้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมือในการป้องกันเพื่อไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ 2.การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และใช้มาตรการด้านสังคม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยเน้นย้ำให้ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และเครือข่ายอาสาสมัคร ร่วมรณรงค์ประชาพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการห้ามเผาป่าในพื้นที่ควบคุม รวมถึงผลกระทบจากปัญหาหมอกควันที่เกิดการการเผาป่าและพื้นที่การเกษตร เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการป้องกันปัญหาดังกล่าว
     สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะนี้จากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บางแห่งมีปริมาณน้ำจำกัดและจำเป็นต้องจัดสรรน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ทำให้หลายพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตร โดยได้กำชับให้จังหวัดเตรียมพร้อมในการป้องกันแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งให้ครอบคลุมทุกมิติไว้ล่วงหน้า และเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดสำรวจและจัดทำบัญชีข้อมูลแหล่งน้ำ และปริมาณน้ำในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้บูรณาการการแก้ปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมในทุกหน่วยงาน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้วทุกจังหวัดและอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู โดยในการบริหารจัดการและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่ผ่านมาได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง และได้กำชับให้จังหวัดเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมในทุกด้าน โดยยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายต้องได้รับการช่วยเหลือหรือซ่อมแซมแล้วเสร็จครบทุกหลังโดยเร็ว ด้านการเกษตร จังหวัดต้องจ่ายเงินเยียวยา แก่เกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ให้ครบถ้วนทุกรายภายในระยะเวลาที่กำหนด ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ เร่งซ่อมแซมให้ใช้งานได้ตามปกติ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว และในกรณีที่จังหวัดให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือวงเงินทดรองราชการของจังหวัดไม่เพียงพอ ให้ประสานขอขยายระยะเวลาและวงเงินงบประมาณผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น