เมื่อ 4 ธ.ค. 58 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย
เป็นประธานการประชุมผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 10/2558
โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขต 1 - 18 รองอธิบดี และผู้ตรวจราชการกรมทุกกรม
เข้าร่วมการประชุมฯ
ในการประชุมฯ
ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มอบแนวทางการทำงานให้กับผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยและผู้ตรวจราชการกรม
โดยเน้นย้ำถึงบทบาทการทำงาน 2 ภารกิจสำคัญ คือ 1.งานตามบทบาทของผู้ตรวจราชการฯ โดยขอทุกหน่วยงานลงไปดูงานตามกลุ่มยุทธศาสตร์ 6 ด้านที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นโรดแมปในการบริหารประเทศ ว่ามีงานของแต่ละกรมเกี่ยวข้องหรืออยู่ในกลุ่มภารกิจด้านใดบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น กรมการพัฒนาชุมชนที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจและสังคม
กรมการปกครองที่เกี่ยวข้องกับงานหลายด้านทั้งด้านสังคมและความมั่นคง
ซึ่งผู้ตรวจราชการทุกคนจะต้องทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อของงานทั้ง 6 กลุ่มงานของรัฐบาลที่ได้นำไปปฏิบัติแล้วในพื้นที่และเป็นตัวแทนของปลัดกระทรวงมหาดไทยในการติดตามการทำงานด้านต่างๆ
เพื่อรายงานความคืบหน้าให้กระทรวงมหาดไทยทราบ
สำหรับการตรวจติดตามงานตามยุทธศาสตร์และมาตรการสำคัญของรัฐบาล เช่น มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล
ตำบลละ 5 ล้านบาท หรือ
ปัญหาสาธารณะต่างๆที่มีผลกระทบต่อประชาชนพื้นที่เป็นวงกว้าง เช่น ปัญหาหมอกควัน
ภัยหนาว ขอเน้นย้ำให้ผู้ตรวจราชการฯ ทำหน้าที่ 3 ด้าน
คือ 1) การตรวจติดตามงานยุทธศาสตร์และมาตรการสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย 2) การตรวจแนะนำ ต้องทำหน้าที่ในการแนะนำการทำงานต่างๆ
ให้กับจังหวัด เช่น ด้านการรักษาความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ได้เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
เป็นต้น 3) การตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น กรณีปัญหาข้อร้องเรียน ที่เข้ามาที่ศูนย์ดำรงธรรม
โดยกระทรวงมหาดไทยจะสรุปประเด็นข้อร้องเรียนต่างๆ ให้ผู้ตรวจราชการฯ
ลงไปดูข้อเท็จจริงในพื้นที่ เพื่อนำข้อเสนอแนะต่างๆ
มาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. เรื่องสำคัญที่ขอเน้นย้ำในการตรวจราชการในพื้นที่ คือ
งานที่รัฐบาลให้ความสำคัญและข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เรื่องแรกด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และการขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริในพื้นที่
ให้ไปดูการทำงานของจังหวัดว่าสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนในพื้นที่ได้หรือไม่อย่างไร
ด้านความสงบเรียบร้อยในสังคมสิ่งที่ต้องการให้ทุกหน่วยดำเนินการ คือ
การวิเคราะห์สถานการณ์ล่วงหน้า 6 เดือน - 1 ปี
ต่อจากนี้จะมีเหตุการณ์สำคัญอย่างไรเกิดขึ้น
และจะมีปัญหาอะไรที่อาจจะกระทบต่อพี่น้องประชาชน เช่น ปัญหาภัยธรรมชาติ
และเรื่องปัญหาปากท้อง หากพบต้องเร่งรายงานขึ้นมาให้กระทรวงมหาดไทยทราบ
เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน
สำหรับการดำเนินงานตามมาตรการตำบลละ 5 ล้านบาท ขณะนี้เม็ดเงินกำลังลงไปในพื้นที่ได้มอบหมายให้กรมการปกครองเป็นหน่วยงานหลัก
ขอให้ลงไปดูตั้งแต่เรื่องของเอกสาร
ขั้นตอนการเสนอโครงการว่าได้ดำเนินงานเป็นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่
เน้นการลงพื้นที่สุ่มตรวจเจาะลึกลงไปในพื้นที่ว่าสามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์
มีความโปร่งใส และเกิดประโยชน์สุขต่อพี่น้องประชาชนหรือไม่
หรือการตรวจติดตามโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน/หมู่บ้านเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง
ที่ได้มอบหมายกรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งต้องไปดูว่าการดำเนินการต่างๆ
เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนตามรูปแบบประชารัฐหรือไม่ เป็นต้น รวมไปถึงการตรวจติดตามงานในพื้นที่ที่มีการพัฒนาที่แปลกใหม่มีความริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งอาจเกิดจากการผลักดันของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ส่วนราชการต่างๆ
เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ เป็นต้น
สุดท้ายปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำถึงบทบาทการทำงานของผู้ตรวจราชการฯ
ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมต่อการทำงานที่ลงไปในพื้นที่
จึงขอให้ทุกหน่วยงานได้บูรณาการการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตามยุทธศาสตร์ ทั้ง 6 ด้าน
เพื่อสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ
และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น