pearleus

วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

มหาดไทย เผยยอดผู้ใช้บริการศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ มีกว่า 2 ล้านเรื่อง งานบริการเบ็ดเสร็จ ฮิตสุด 1.7 ล้านเรื่อง

           เมื่อ 10 ธ.ค. 58 ที่กระทรวงมหาดไทย นายชยพล  ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้บริการประชาชนในการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ และบริการให้คำปรึกษาปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชน ตลอดจนขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลในระดับพื้นที่ให้เกิดผลสัมฤทธิ์  ภายใต้แนวคิด “มหาดไทยร้อยใจ คนไทยยิ้มได้” ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้เร่งรัดพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมในทุกๆ ด้านมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการกำหนดโครงสร้างและกรอบภารกิจในการให้บริการประชาชนไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมเคลื่อนที่ หรือชุดหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การบริการมีความสะดวก รวดเร็ว สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ในการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมได้มีการประสานความร่วมมือและบูรณาการการทำงานร่วมกับภาครัฐในทุกหน่วยงานในลักษณะศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (One Stop Service) เพื่อให้ศูนย์ดำรงธรรมเป็นศูนย์กลางในการให้บริการและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง

           สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ถึง 1 ธันวาคม 2558 (รวมเวลา 1 ปี 4 เดือน) มีประชาชนเข้ารับบริการผ่านศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ จำนวน 2,413,789 เรื่อง สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ 2,337,717 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 96.84 แยกตามประเภทการให้บริการ โดยเรียงลำดับจากจำนวนประชาชนที่มาขอรับบริการ ดังนี้ 1)งานบริการเบ็ดเสร็จ ได้แก่ การรับชำระค่าน้ำประปา-ค่าไฟฟ้า การทำบัตรประจำตัวประชาชน การคัดสำเนาทะเบียนราษฎร์ การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SMEsการบริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน การบริการออกบัตรนายจ้าง และการชำระภาษีรถทุกชนิด (กรณีไม่ต้องตรวจสภาพรถ) เป็นต้น จำนวน 1,742,309 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 72.182)บริการข้อมูลข่าวสาร จำนวน 353,973 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14.66 3)เรื่องร้องเรียนร้องทุกข์จำนวน 112,507 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 4.664)บริการให้คำปรึกษา ได้แก่ คำปรึกษาเกี่ยวกับคดีความ หนี้นอกระบบ ปัญหาครอบครัว การประกอบอาชีพ การลงทุน SMEs และการประกอบธุรกิจต่างๆ เป็นต้น จำนวน 133,437 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 5.53 5)บริการรับเรื่องส่งต่อ ได้แก่ การจดทะเบียนคนพิการ การจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ การต่อใบอนุญาตผู้ประกอบการ อาทิ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง/ร้านเกมส์/คาราโอเกะ การขออนุญาตใช้ไฟฟ้า/น้ำประปา และโทรศัพท์ เป็นต้น จำนวน 58,277 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 2.41 6)การให้บริการงานตามนโยบายรัฐบาล (แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ) จำนวน 8,478 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 0.35 และ7)หน่วยเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 4,808 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 0.20 โดยเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของพี่น้องประชาชน สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ 47,875 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 42.55 และอยู่ระหว่างดำเนินการ 64,632 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน  และมีกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ เช่น ปัญหาที่ดิน ปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหาการร้องเรียนหน่วยงาน/เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งเรื่องที่เป็นคดีความ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นต้น

โดยที่ผ่านมาศูนย์ดำรงธรรมสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้เป็นผลสำเร็จในหลายๆ เรื่อง อาทิเช่น การแก้ไขปัญหาข้อพิพาท กรณีการดำเนินงานโครงการขุดลอกหนองกุดดุมเกวียน ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นกรณีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ และมีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่และหลายหน่วยงานโดยมีมูลเหตุเกิดจาก อบต.นาเชือก อำเภอยางตลาด ได้รับงบประมาณเพื่อทำการขุดลอกหนองกุดดุมเกวียน และเมื่อเข้าดำเนินการได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น สำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เพื่อขออนุญาตให้ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการ ซึ่งขณะทำการปรับพื้นที่ได้มีการตัดต้นไม้เป็นเหตุให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ อบต.นาเชือกและผู้รับจ้าง ศูนย์ดำรงธรรมฯ ได้บูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจัดประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น และได้ข้อยุติโดยให้ อบต.นาเชือก ขยับพื้นที่ดำเนินการเพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ป่าไม้และโครงการส่งน้ำฯ ดังกล่าว

           การแก้ไขปัญหากรณีซื้อบ้านแล้วเกิดชำรุดในภายหลัง ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอ่างทอง กรณีมีผู้ร้องทุกข์ฯ ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากซื้อบ้านพร้อมที่ดิน แล้วหลังจากอยู่มาได้ระยะหนึ่งเกิดรอยแตกร้าวไม่คุ้มค่ากับเงินที่ซื้อไป ศูนย์ดำรงธรรมฯ ได้ร่วมกับ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดอ่างทอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเชิญผู้ซื้อและผู้ขายมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าว ซึ่งผู้ขายตกลงซื้อบ้านและที่ดินคืนจากผู้ซื้อในราคาที่น่าพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย

           การแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิจิตร กรณีมีผู้ร้องเรียน ว่ามีกระบวนการปล่อยเงินกู้นอกระบบ และมีพฤติกรรมทวงถามหนี้ไม่เหมาะสม มีการข่มขู่ คุกคาม ส่งผลให้ผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อน ศูนย์ดำรงธรรมฯ ได้ร่วมกับ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดพิจิตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนจับกุมแก๊งทวงหนี้นอกระบบดังกล่าว สามารถจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางได้จำนวน 2 ราย ส่งมอบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองพิจิตร ดำเนินคดีตามกฎหมาย

           การช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยและการดำรงชีพสำหรับผู้พิการ ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กรณีมีผู้ร้องทุกข์ฯ ต่อ สำนักราชเลขาธิการ ว่าได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากมีฐานะยากจน และรายได้จากการประกอบอาชีพไม่เพียงพอที่จะดูแลมารดาชราภาพและบุตรสาวซึ่งเป็นผู้พิการ จึงขอความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยและเครื่องมือดำรงชีพสำหรับผู้พิการ ศูนย์ดำรงธรรมฯ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงและบูรณาการให้ความช่วยเหลือ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.ศรีมงคล อำเภอบึงสามพัน) ดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลประจำอำเภอ ดูแลเกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัด และช่วยเหลือเครื่องมือดำรงชีพสำหรับผู้พิการ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการขึ้นทะเบียนผู้พิการ และมอบถุงยังชีพและเงินสงเคราะห์ฯ เพื่อการดำรงชีพให้แก่ผู้ร้อง

         โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการให้บริการของศูนย์ดำรงธรรมสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้ระดับหนึ่ง ทำให้ประชาชนที่มาใช้บริการได้รับความสะดวก รวดเร็ว มีความพึงพอใจและสนใจมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของศูนย์ดำรงธรรมในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติงานในเชิงรุก ร่วมกับ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัด (กกล.รส.จังหวัด) และภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีการวางแผนปฏิบัติงาน แผนเผชิญเหตุและสถานการณ์ เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน หรือปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการให้บริการ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการข้อมูลร่วมกับศูนย์บริการอื่นๆ เช่น ศูนย์ให้บริการด้านเกษตร ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC เพื่อรองรับการปฏิบัติงานในรูปแบบของศูนย์บริการร่วม (One Stop Service : OSS) ในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ ได้นำระบบApplication Spond และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนางานบริการให้เข้าถึงประชาชนได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนของศูนย์ดำรงธรรมให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน เพื่อให้การบริการและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น