pearleus

วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

หากเจ้ามรดกตายใครจะได้ทรัพย์สิน

เมื่อสองสัปดาห์ก่อนมีผู้มาปรึกษาปัญหากฎหมายกับผม โดยเรื่องมีอยู่ว่า เจ้ามรดกหรือผู้ตายมีทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่คือ แม่ และพี่น้องพ่อแม่เดียวกันอีกสามคน ส่วนพ่อเสียชีวิตไปนานแล้วและเจ้ามรดกเองไม่มีลูก จึงเกิดปัญหาขึ้นว่าใครบ้างจะเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับทรัพย์สินของคนที่ตายนั้น พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกันนั้นจะมีสิทธิได้รับมรดกจากผู้ตายหรือไม่ ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจจึงได้นำมาอธิบาย ณ ที่นี้ดังนี้ครับ

....ในเรื่องของมรดกหรือทรัพย์สมบัติของผู้ตายนั้น กฎหมายได้กำหนดให้ตกเป็นของทายาท ซึ่งทายาทแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ

1.ทายาทโดยธรรม คือคนที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดหรือทางเครือญาติ โดยกฎหมายแบ่งออกเป็นหกลำดับตามความใกล้ชิดอันได้แก่ 1.1 ผู้สืบสันดานหรือลูกแท้ของผู้ตายที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความใกล้ชิดมากที่สุดจึงได้มีสิทธิรับมรดกเป็นลำดับแรก 1.2 พ่อแม่ 1.3 พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน 1.4 พี่น้องร่วมพ่อหรือแม่เดียวกัน 1.5 ปู่ ย่า ตา ยาย 1.6 ลุง ป้า น้า อากฎหมายให้ลำดับนี้มีความใกล้ชิดน้อยที่สุดและเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่มีสิทธิได้รับมรดกจากผู้ตายซึ่งสิทธิที่จะได้รับมรดกของแต่ละลำดับอยู่ภายใต้หลัก ญาติสนิทตัดญาติห่าง คือ เมื่อกฎหมายแบ่งความใกล้ชิดสนิทกันตามลำดับ ลำดับที่ 1.1 ใกล้ที่สุด และลำดับที่ 1.6 ห่างที่สุด และถ้ามีทายาทลำดับก่อนหน้า ลำดับถัดไปก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับทรัพย์มรดก
แต่มีข้อยกเว้นในกรณีของลำดับที1.1 กับ 1.2 กล่าวคือ หากมีลูกซึ่งเป็นทายาทลำดับที่ 1.1 อยู่ พ่อแม่อันเป็นลำดับที่ 1.2 จะยังคงมีสิทธิ์ได้รับทรัพย์มรดกอยู่ โดยเปรียบเสมือนว่าเป็นชั้นเดียวกันกับลูกในอันดับที่1.1 คือพ่อแม่ที่อยู่ในอันดับที่ 1.2 จะมีสิทธิ์ได้รับทรัพย์มรดกเช่นเดียวกับลูกซึ่งเป็นลำดับที่ 1.1  โดยได้ส่วนแบ่งเท่าๆกัน โดยการที่กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นเช่นนี้เพราะเป็นไปตามวัฒนธรรมความกตัญญูรู้คุณของคนไทยเรานี่เองที่คำนึงถึงพ่อแม่เสมอและปรากฏอยู่เป็นการทั่วไปว่าคนไทยเราเลี้ยงดูบิดามารดาไปจนแก่เฒ่า กฎหมายจึงได้กำหนดให้พ่อแม่มีสิทธิดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ดังนั้นในส่วนของทายาทโดยธรรมจึงสามารถสรุปได้ว่า หากผู้ตายมีลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย คนที่มีสิทธิรับมรดกจากผู้ตาย คือลูกและพ่อแม่ โดยได้รับคนละส่วนเท่าๆกัน ส่วนทายาทลำดับถัดไปอันได้แก่ พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน พี่น้องร่วมพ่อหรือแม่เดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา นั้นไม่มีสิทธิได้เลย และแม้ว่าผู้ตายจะไม่มีลูกหรือหลาน มีเพียงพ่อแม่ ซึ่งเป็นทายาทลำดับที่ 1.2 ผลก็จะยังเหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้ว ลำดับถัดไปก็ยังคงไม่มีสิทธิได้รับมรดกเช่นกัน ฉะนั้นในกรณีที่มีผู้มาปรึกษาข้างต้นดังที่ผมได้เล่าไปนั้น ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกจากผู้ตาย จึงมีเพียงแม่เพียงผู้เดียวครับ

แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ไม่มีทั้งลูกหลานและพ่อแม่ สิทธิในการรับมรดกจึงจะตกไปยังทายาทลำดับที่ 1.3 ถ้าลำดับที่ 1.4 ไม่มีก็จะตกกับลำดับถัดไปจนไปสุดท้ายที่ลำดับที่ 1.6 ครับ

2.ผู้รับพินัยกรรม คือคนที่ผู้ตายได้กำหนดไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์สินของผู้ตายซึ่งอาจจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดเลยก็ได้ ทำให้ทายาทที่เป็นผู้รับพินัยกรรมนี้มีสิทธิดีกว่าทายาทโดยธรรม กล่าวคือ การแบ่งทรัพย์สินอันเป็นมรดกนั้นจะต้องแบ่งให้กับผู้มีสิทธิได้รับตามพินัยกรรมกำหนดก่อน เหลือเท่าไรจึงนำมาแบ่งให้กับทายาทโดยธรรมตามลำดับชั้น และถ้าหากพินัยกรรมกำหนดให้ยกทรัพย์สินทั้งหมดให้กับผู้รับมรดกตามพินัยกรรมไป ทายาทโดยธรรมก็จะไม่ได้อะไรเลย
และจากกรณีที่ผมได้อธิบายไปแล้วในตอนแรกนั้นหากผู้ตายต้องการจะให้พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกันหรือคนอื่นใดให้มีสิทธิได้รับทรัพย์สินของตนด้วย ก็สามารถทำได้โดยทำพินัยกรรมและกำหนดเอาไว้ในพินัยกรรมครับ
ดังนั้นผมจึงสรุปได้ว่า ทรัพย์สินของผู้ตายจะตกเป็นของใครบ้างก่อนอื่นเราจะต้องพิจารณาว่ามีพินัยกรรมหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องแบ่งให้ตามพินัยกรรมก่อน และถ้าแบ่งให้ตามพินัยกรรมแล้วเหลือหรือไม่มีพินัยกรรมก็นำมาแบ่งให้กับทายาทหกลำดับ โดยอยู่ภายใต้หลักญาติสนิทตัดญาติห่างตามที่กล่าวไปข้างต้นครับ

โดย  ทนายประชาชน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น