เมื่อ 16
ม.ค.59 นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย
เปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินงานโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล
(ตำบลละ 5 ล้านบาท) ได้มีการกระจายเม็ดเงินลงพื้นที่ โดยจังหวัดได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่
1 -18 แล้ว จำนวน 129,246 โครงการ
ได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ว จำนวน 110,962 โครงการ
คิดเป็นร้อยละ 85.85 เป็นเงินงบประมาณ 33,253.515 ล้านบาท
คิดเป็นร้อยละ 91.67 และได้มีการเบิกจ่ายแล้ว 632.084 ล้านบาท
และก่อหนี้ผูกพันแล้ว 1,232.341 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.83
(ข้อมูล ณ วันที่ 11 ม.ค. 59)
โดยการดำเนินงานโครงการตามมาตรการฯ
ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน
หรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในจังหวัด เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน
การบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งรูปแบบการเสนอโครงการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
และเป็นโครงการตามความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการหมู่บ้าน
(กม.) และผ่านการพิจารณากลั่นกรองโครงการจากคณะกรรมการระดับอำเภอและระดับจังหวัดแล้ว
เพื่อขออนุมัติจากสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1-18
รวมทั้งมีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายในและภายนอก เช่น สำนักการตรวจเงินแผ่นดิน
(สตง.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เป็นต้น ทั้งนี้สามารถ จำแนกลักษณะการดำเนินงานโครงการได้ดังนี้
1.พัฒนาสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 ,649 โครงการ (ร้อยละ 2.89)
2.ต่อยอดโครงการพระราชดำริ จำนวน 12,695 โครงการ (ร้อยละ
5.55) 3.ปรับปรุงแหล่งน้ำ จำนวน 32,005 โครงการ (ร้อยละ 13.93)
4.ถนน/โครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 32,102 โครงการ (ร้อยละ 13.98)
5.การจ้างงาน/อาชีพ จำนวน 41,547 โครงการ (ร้อยละ 18.09)
6.ซ่อมแซม/บูรณะทรัพย์สิน จำนวน 45,591 โครงการ (ร้อยละ
19.85) และ 7.สร้างความเข้มแข็งหมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 59 ,045 โครงการ (ร้อยละ 25.71)
สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว
โครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่แล้ว
จะต้องดำเนินการตามระเบียบทางราชการ โดยเข้าสู่กระบวนการจัดหาตัวผู้รับจ้าง
ทั้งนี้ถ้าเป็นโครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 5 แสนบาท จะใช้เวลาในการซื้อหรือจ้างด้วยวิธีตกลงราคาประมาณ
10 วัน และใช้เวลาดำเนินโครงการประมาณ 20-40 วัน หากมีวงเงินมากกว่า 5 แสน
แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท จะใช้เวลาในการซื้อหรือจ้างโดยวิธีสอบราคา/ประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์/ e-bidding/e-marketประมาณ 30 วัน และถ้าเป็นโครงการที่มีวงเงินเกินกว่า 2 ล้านบาท
จะใช้เวลาในการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์/ e-bidding/e-market ประมาณ 40 วัน
และเมื่อได้ผู้รับจ้างแล้วก็จะต้องใช้เวลาดำเนินการอีกระยะหนึ่ง
จึงจะเบิกจ่ายเงินได้
โฆษกกระทรวงมหาดไทย
กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจข้อมูล โดยกรมการปกครอง
ปรากฏว่ามีจำนวนโครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 5 แสนบาท ประมาณร้อยละ 90
ของโครงการทั้งหมด ซึ่งได้ดำเนินการโครงการเสร็จแล้วอยู่ระหว่างการเบิกจ่าย
ซึ่งพบว่าระบบการเบิกจ่ายเป็นปัญหาที่ทำให้ผลการเบิกจ่ายล่าช้านั้น
กระทรวงมหาดไทยและกรมบัญชีกลางได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
เพื่อทำให้งานตามนโยบายของรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
คาดว่าในสัปดาห์ต่อไปผลการเบิกจ่ายจะสูงมากยิ่งขึ้น
และเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เร่งรัดดำเนินการโครงการตามมาตรการดังกล่าว
และพร้อมดูแลให้เกิดความโปร่งใสในทุกโครงการ และได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเร่งขับเคลื่อนงานในพื้นที่ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น