pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

สถ.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งดำเนินการก่อสร้างฝายกระสอบทราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในลำน้ำ และบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ปี 2559

นายจรินทร์  จักกะพาก  อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า       จากการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในปี 2559 เนื่องจากสภาวะภูมิอากาศโลกเกิดการแปรปรวนทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลหรือตกทิ้งช่วงเป็นเวลานาน จึงคาดว่าปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรตามปกติได้ และบางพื้นที่อาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร อีกทั้งยังจำเป็นต้องรักษาน้ำบางส่วนไว้เฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้มอบให้กรมชลประทานพิจารณาแผนงาน/โครงการที่บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2559 เป็นการเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำ ซึ่งแนวทางในการดำเนินการปัจจุบันเป็นช่วงที่ลำน้ำต่างๆ ยังอยู่ในสภาวะที่มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ จึงมีความเหมาะสมที่จะให้มีการจัดทำที่เก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเป็นการชั่วคราวทั้งในแหล่งเก็บกักน้ำ/คลองระบายน้ำ/ลำน้ำธรรมชาติเช่น การก่อสร้างฝายกระสอบทรายชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ ซึ่งใช้ระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน (ขึ้นอยู่กับขนาด ความสูงและพื้นที่ดำเนินการ) เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและมีลักษณะโครงสร้างที่เป็นการใช้งานชั่วคราวจึงออกแบบไว้เป็นลักษณะฝายกระสอบทราย ซึ่งง่ายต่อการก่อสร้าง ท้องถิ่น/ชุมชน/ประชาชน สามารถดำเนินการได้เองตามความพร้อมและศักยภาพของแต่ละพื้นที่และการมีส่วนร่วมของประชาชน และใช้งบประมาณไม่มากในแต่ละแห่ง ในเบื้องต้นกรมชลประทานได้เคยสำรวจพื้นที่ลำน้ำขนาดเล็กที่มีศักยภาพ รวม 526 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือ 100 แห่ง พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 384 แห่ง พื้นที่ภาคกลาง 10 แห่ง และพื้นที่ภาคตะวันออก 32 แห่ง และเนื่องจากเป็นงานที่ท้องถิ่น/ชุมชน/ประชาชน สามารถดำเนินการได้เอง จึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการดังกล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า หากโครงการก่อสร้างฝายกระสอบเสร็จสิ้นทั้ง 526 แห่ง จะสามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำได้ประมาณ 51.73 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ ประมาณ 397,199 ไร่ หรือครัวเรือนรับประโยชน์ประมาณ 26,500 ครัวเรือน


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น