เมื่อ 13 ม.ค. 59 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ครั้งที่ 1/2559และ ประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยัง 10 จังหวัดในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้งในระยะที่ 1 ได้แก่จังหวัดสงขลา ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร หนองคาย และระยะที่ 2 ได้แก่จังหวัดนราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี
เพื่อติดตามความคืบหน้าและพิจารณาเรื่องการขอใช้ที่ดินของรัฐ
เพื่อ ให้การใช้ประโยชน์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาและการลงทุนในพื้นที่
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้
คณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ
ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดิน และรับทราบความคืบหน้าของหน่วยงานต่างๆ
ที่ได้ดำเนินการ ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินฯ
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่ามีความคืบหน้าไประดับหนึ่ง
และเพื่อให้ได้ผลสรุปในการดำเนินงานที่จะนำเสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
(กนพ.) ในคราวต่อไป
โดยผู้แทนจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้นำเสนอเรื่องการกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนการเช่าและค่าเช่าที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ประกอบด้วยอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า
โดยกรมธนารักษ์ได้มีการปรับลดค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าลงกึ่งหนึ่งจากอัตราเดิมที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
(กนพ.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 เพื่อให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นสำหรับการลงทุนและพัฒนาในพื้นที่ของภาคเอกชน
โดยได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งการปรับลดค่าธรรมเนียมในครั้งนี้
ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ ไปจัดทำรายละเอียดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมในแต่ละพื้นที่
เพื่อนำเสนอต่อ กนพ.พิจารณาต่อไป รวมทั้งได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการคัดเลือกผู้พัฒนาพื้นที่เพื่อการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
และที่ประชุมในวันนี้ได้ร่วมกันเสนอแนะและให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์
โดยเน้นย้ำการพัฒนาให้สอดคล้องกับผังเมือง แนวคิดการพัฒนาพื้นที่
ความสอดรับกับการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน และสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด
รวมทั้งผลการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ระยะที่ 1 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่ง
กนพ.ได้เห็นชอบการจัดสรรให้หน่วยงานราชการใช้ประโยชน์
เอกชนและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เช่าในพื้นที่ดังกล่าว
ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่มีความคืบหน้าแล้ว โดยบางส่วนได้ดำเนินการรังวัดออกโฉนดที่ดิน
หรือหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เรียบร้อยแล้ว
และบางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ
จากนั้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ติดตามเรื่อง "การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่พัฒนาจังหวัดตราด ” ตามที่จังหวัดตราดได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในที่ราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
โดยขณะนี้จังหวัดได้เสนอของบประมาณในการขนย้ายขยะไปจากพื้นที่เดิมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
และได้เสนอขอใช้ที่ดินแห่งใหม่สำหรับการจัดการขยะ รวมทั้งได้ติดตามความคืบหน้าถึงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภค
ทั้งระบบไฟฟ้าและประปาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
โดยด้านการไฟฟ้าได้มีการเตรียมพร้อมแล้ว เช่น การก่อสร้างสถานีไฟฟ้าและระบบจำหน่าย ในพื้นที่จังหวัดระยะที่ 1 และได้มีการสำรวจออกแบบ
และจัดหาพื้นที่สำหรับการจัดสร้างสถานีไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดระยะที่ 2
สำหรับด้านการประปา ในพื้นที่จังหวัดระยะที่ 1 ได้มีการพัฒนา
โดยการก่อสร้างระบบผลิต และสถานีจ่ายน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
สำหรับพื้นที่จังหวัดในระยะที่ 2 อยู่ระหว่างจัดทำแผนเสนอ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาในเรื่องอื่นๆ
ที่สำคัญ ได้แก่ การพิจารณาเรื่องการขอใช้ประโยชน์ ที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่น การขอใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ของกรมการขนส่งทางบก การจัดพื้นที่เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย ของการเคหะแห่งชาติ
การขอใช้ที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งจัดหาที่ดินของรัฐเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่
จังหวัดนราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี ซึ่งได้มีการพิจารณาพื้นที่ต่างๆ
ตามที่กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่
เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม โดยจะคำนึงถึงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ความเหมาะสมทางด้านกายภาพ และความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งข้อเสนอของทางจังหวัด
และการพิจารณาเรื่องการขอใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว
เพื่อให้การใช้ประโยชน์ในที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ประชุมได้มีมติให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ไปพิจารณาการขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ
และแนวทางในการบริหารจัดการอย่างรอบคอบ เพื่อให้การใช้ที่ดินของรัฐเกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพ
รองรับการพัฒนาเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น