pearleus

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สถ. ห่วงใย ใส่ใจผู้สูงอายุ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้เปี่ยมสุขและมีคุณภาพ

วันที่ 5 พฤษภาคม 2560 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็น สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2568กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงเห็นถึงความสำคัญและได้ให้ความใส่ใจในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ โดยจัดทำโครงการและแนวทางในการดูแลและสนับสนุนคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน มีอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะ โดยเฉพาะด้านสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส ทั้งการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล รวมถึงการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ จึงสามารถทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการในทุกๆด้านให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง
นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมุ่งผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ นั่นคือ การจัดตั้ง “โรงเรียนผู้สูงอายุ”ให้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ เพิ่มทักษะ ความสามารถในด้านต่างๆ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการทำประโยชน์แก่ตนเองและสังคมสามารถส่งเสริมอาชีพ หารายได้ และมีความรู้ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุอย่างมีศักยภาพได้ครบทุกด้านและยังให้การสนับสนุนงานด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น งานด้านสุขภาพการจัดตั้งและพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ คลินิกผู้สูงอายุและบริการแพทย์ทางเลือก การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้สูงอายุ การส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มและการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้สูงอายุ ส่งเสริมด้านการทำงาน การสร้างรายได้ และการฝึกอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แจ้งหลักเกณฑ์แนวทาง “การจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้สูงอายุและคนพิการ” ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบไปด้วย 4 แผนงานหลัก คือ 1. แผนงานให้บริการด้านสุขภาพอนามัย ที่ให้มีการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุและคนพิการ เช่น การจัดฝึกอบรมให้ความรู้ด้านต่างๆ โครงการออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อบริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นแก่ผู้สูงอายุ๒. แผนงานส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน และสร้างความเข้มแข็งด้านองค์กรผู้สูงอายุ โดยการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมด้านสวัสดิการสังคม การนันทนาการ๓. แผนงานส่งเสริมอาชีพหรือรายได้ของผู้สูงอายุและคนพิการ โดยฝึกอาชีพและอบรมให้ความรู้ด้านอาชีพต่างๆ และประสานกับสถานประกอบการเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุและคนพิการที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสามารถเข้าทำงานได้4czo’l;l[[๔. แผนงานด้านการบริหารจัดการระบบพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุและคนพิการ และประชาสัมพันธ์ สื่อสารให้ผู้สูงอายุและคนพิการได้รับทราบถึงสิทธิของตนเองในการเข้าถึงบริการของรัฐ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุและคนพิการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง นอกจากนี้ ยังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดอุปกรณ์ช่วยเหลือในการดำรงชีวิต และสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น ทางลาด ห้องน้ำ และที่จอดรถสำหรับผู้สูงอายุด้วย
อีกหนึ่งโครงการที่สำคัญ นั่นคือ โครงการ มหาดไทยห่วงใย ใส่ใจผู้สูงอายุที่มุ่งหวังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งได้พัฒนาระบบบริการ และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ให้มีสุขภาพอนามัย และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้แก่ ระบบการเฝ้าระวังสุขภาพ / สุขภาวะด้วยตนเองและครอบครัว การสร้างเครือข่าย การจัดบริการผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ ด้านสังคม และด้านการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีตลอดทั้งปี และเพื่อให้เกิดเครือข่ายการจัดบริการผู้สูงอายุในท้องถิ่น ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรม 4 ด้าน คือ1. ด้านการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ 2. ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต การอยู่ร่วมกันในครอบครัวของผู้สูงอายุและบุคคลอื่นในสังคม 3. ด้านการบริการทางสังคม 4. ด้านการปรับสภาพแวดล้อม
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เห็นว่า ผู้สูงอายุหลายท่าน เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และมากด้วยประสบการณ์ จึงถือได้ว่าเป็นคลังสมองที่สำคัญที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นให้แก่คนรุ่นหลังได้ ซึ่งทางกรมฯ ได้จัดตั้งศูนย์บริการผู้สูงอายุแล้ว จำนวน 912 แห่ง และโรงเรียนผู้สูงอายุอีกจำนวน 518 แห่ง เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มารวมตัวกัน แบ่งปันความรู้ความสามารถ และทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งในแง่ของการมีส่วนร่วมด้านหลักสูตรวิชาที่มาจากความสนใจของผู้สูงอายุ รวมทั้งการมีส่วนร่วมด้านการทำประโยชน์แก่ตนเองและสังคม เช่น การช่วยกันจัดการขยะในชุมชน การสร้างความสามัคคีในชุมชน และรวมถึงการเยี่ยมผู้สูงอายุติดเตียงในพื้นที่ชุมชนตนเอง    
และในขณะนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีแนวคิดที่จะทำ โครงการ ท้องถิ่นสร้างสุขสูงวัยซึ่งอยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรเนื้อหาและกิจกรรมในศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยมีมาตรการในการสร้างสุขทั้งสิ้น 5 ส ได้แก่ 1. ส.ศาสนา สร้างสุข 2. ส.สิ่งแวดล้อม สร้างสุข 3. ส.สัมพันธภาพ สร้างสุข 4. ส.สุขภาพ สร้างสุข 5. ส.สัมมาอาชีพ/เศรษฐกิจ สร้างสุขซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าว จะต้องอยู่บนพื้นฐาน 4 ประการ นั่นคือ การสื่อสาร ฐานข้อมูล ศูนย์บริการ ทีมงานคุณภาพ

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพอนามัยและด้านสังคมที่ดีขึ้นมีระบบเฝ้าระวังสุขภาพสุขภาวะด้วยตนเองและครอบครัว รวมทั้งเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองผู้สูงอายุ โดยการประสานความร่วมมือกันแบบประชารัฐ ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนต่อไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น