pearleus

วันอังคารที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ตรวจเยี่ยมโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยจังหวัดนครปฐม

เมื่อ 2 พฤษภาคม 2560 ที่ห้องประชุมจตุรภัทร อาคารอำนวยการ โรงพยาบาลนครปฐม นายแพทย์เสรี  ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ตรวจเยี่ยมโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยจังหวัดนครปฐม โดยมี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เกษตรจังหวัด คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดนครปฐม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายเกษตรกร ให้การต้อนรับ


ดร.นายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรมีการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากเพื่อให้ผลผลิตมีปริมาณมาก แต่ก็มีสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้เช่นกัน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะเทคนิคการแพทย์มีโครงการวิเคราะห์สารเคมีปนเปื้อนในพืชผักผลไม้ ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม มีนโยบายให้จังหวัดนครปฐมเป็น Food Innopolis (เมืองนวัตกรรมอาหาร) รวมทั้งจังหวัดนครปฐมมีชื่อเสียงเรื่องอาหารการกิน และโต๊ะจีนอีกด้วย และจึงต้องการให้จังหวัดนครปฐมเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัย ตลอดจนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้โรงพยาบาลดูแลคนไข้ที่มีสุขภาพย่ำแย่ ให้ได้รับประทานอาหารปลอดภัยและมีผลดีต่อสุขภาพ จึงได้จัดทำโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย โดยมีจังหวัดนครปฐมเป็นจังหวัดนำร่อง อีกทั้งยังใช้เป็นแหล่งระบายสินค้าเกษตรกรรมที่ปลอดภัยด้วย


นอกจากนี้ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 5 มีแนวคิดที่จะดำเนินการโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยครอบคลุมในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในเขตสุขภาพที่ 5 ณ ปัจจุบันจังหวัดนครปฐมได้ดำเนินโครงการนี้ครบทุกโรงพยาบาล โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 และมีเกษตรจังหวัดนครปฐมจัดหาเกษตรกรปลูกผักปลอดภัยเพื่อให้โรงพยาบาลดำเนินการจัดซื้อ โดยจัดซื้อได้ในเดือนมีนาคม ซึ่งมีผลการดำเนินการเมื่อสิ้นสุด ณ เดือนเมษายน
ทั้งนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งเขตสุขภาพที่ 5 จำนวน 67 แห่ง ในทุกระดับทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ในส่วนจังหวัดนครปฐมมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 8 แห่ง มีผลการดำเนินการ โดยมีการปรับปรุงเมนูอาหาร 101 เมนู มูลค่าการซื้อพืชผักผลไม้ปลอดภัยทั้งสิ้น 177,329 บาท ตลอดจนมีการสุ่มตรวจตัวอย่างผักผลไม้ด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น จำนวน 50 ตัวอย่าง/เดือน นอกจากนี้คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สุ่มเก็บตัวอย่างตรวจยืนยันผลห้องปฏิบัติการ จากโรงครัวโรงพยาบาล 6 ตัวอย่าง/โรงพยาบาล/เดือน โดยผลการตรวจด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นพบยาฆ่าแมลงตกค้างไม่ปลอดภัย 3 – 5 %
ในส่วนการดำเนินการโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย พบปัญหาและอุปสรรค คือ แหล่งผลิตไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับความต้องการของโรงพยาบาล และความชัดเจนของราคากลาง และมาตรฐานของผักผลไม้ GAP และผักผลไม้ Organic สำหรับแนวคิดดำเนินการต่อไป คือ การกระจายพืชผักผลไม้ที่ปลอดภัยให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและราคาเป็นธรรม มีการคิดค้นเมนูเทวดาสำหรับประชาชนทั่วไป และจัดทำ QR code เพื่อให้ข้อมูลโภชนาการและสุขภาพ รวมทั้งระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหารจานนั้นต่อไป















0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น