pearleus

วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

มหาดไทย จับมือ 3 หน่วยตรวจสอบ ประชุมผ่านระบบ Video Conference แจงแนวทางตรวจติดตามการใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มเติม ปี 2560 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เน้นการมีส่วนร่วม เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชัน


          เมื่อ 11 พ.ค. 60  ณ ห้องประชุม 1 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยังจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ร่วมกับ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.  และ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางการติดตาม ตรวจสอบและสังเกตการณ์ การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณดำเนินการในพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัด จำนวน 302 โครงการ วงเงินงบประมาณ 75,057.20 ล้านบาท
     
โดยการประชุมครั้งนี้ มีส่วนราชการเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ส่วนกลาง ได้แก่ หอการค้าไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงาน ก.พ.ร. กระทรวง กรม และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับงบประมาณดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวม 39 หน่วยงาน  และส่วนภูมิภาค ได้แก่ หัวหน้ากลุ่มจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับผิดชอบด้านงบประมาณ คณะอนุกรรมการการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจังหวัดผู้แทนจากสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1-9  สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด สำนักงาน ป.ป.ท. เขตพื้นที่ 1-9 สำนักตรวจสอบพิเศษ ภาค 1-15 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด สำนักจัดทำงบประมาณ เขตพื้นที่ 1-18  ตลอดจนหน่วยงานและมหาวิทยาลัยที่ได้รับงบประมาณดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัด
          ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ได้รับเกียรติจากหน่วยตรวจสอบทั้ง 3 หน่วย ได้มาร่วมชี้แจงถึงแนวทางการติดตาม ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับสำหรับการดำเนินการในระดับพื้นที่ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นการประชุมเพื่อวางระบบป้องกันการทุจริตในโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า โดยยึดหลักการ ตรวจสอบความโปร่งใส ในลักษณะเป็นการแนะนำ และติดตาม มิใช่ลักษณะจับผิด ซึ่งจะไม่ทำให้งานหยุดชะงัก ไม่เพิ่มภาระงานให้กับหน่วยงานเกินความจำเป็น และเป็นการลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานตรวจสอบซึ่งสอดคล้องกับข้อสั่งการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการดำเนินการติดตามตรวจสอบโครงการ จะต้องไม่ส่งผลกระทบกับมาตรการของรัฐบาล และไม่เพิ่มภาระให้หน่วยงานปฏิบัติ ซึ่งในการดำเนินการจะใช้กลไกในพื้นที่ คือ คณะอนุกรรมการการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะอนุกรรมการ มีผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด และหัวหน้าสำนักงานจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม 

มีการบูรณาการกับสำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นกลไกขับเคลื่อนระดับจังหวัดในการตรวจสังเกตการณ์ และคณะอนุกรรมการการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับจังหวัด สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จะทำการวิเคราะห์โครงการ และมีหน้าที่ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการที่จะตรวจสอบและสังเกตการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่มีลักษณะเป็นการใช้งบประมาณจำนวนมาก หรือมีความเสี่ยงต่อการทุจริต ซึ่งในการพิจารณาคัดเลือกโครงการต้องกระจายให้ครอบคลุมทุกประเภทของโครงการ ทั้งนี้ การพิจารณาคัดเลือกจะต้องเป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการฯ เป็นสำคัญ
   ในการประชุมครั้งนี้ จะมีการถอดบทเรียนจากผลการดำเนินงานของโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท มาเป็นแบบอย่างของการดำเนินงาน และมีเป้าหมายของการทำงานในลักษณะบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการตรวจสอบ โดยจะร่วมกันบูรณาการในการป้องกันการทุจริตแก้ปัญหาเชิงมาตรการ และสร้างกระแสการตรวจสอบและเฝ้าระวังของภาคประชาชน เพื่อลดการร้องเรียนการทุจริต รวมทั้งจะได้รับทราบข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แท้จริงของคนทำงาน ว่ามีระเบียบกฎหมาย ปัญหา อุปสรรคคืออะไรบ้าง เพื่อที่จะได้มีการจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 
ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำว่า นอกจากกระทรวงมหาดไทยจะได้ประสานขอความร่วมมือจาก สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. และ สตง. เข้าร่วมในการติดตาม ตรวจสอบ โครงการและกิจกรรมตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เพื่อป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชันในพื้นทุกๆ ด้านแล้ว ยังได้ขอความร่วมมือภาคเอกชน ได้แก่ สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าไทย ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้และต่อต้านการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อขจัดการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “เมื่อไม่มีผู้ให้ ก็ไม่มีผู้รับ” เพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินโครงการทุกโครงการที่ได้รับงบประมาณ ขณะเดียวกันหากผู้ว่าราชการจังหวัด ถูกบัตรสนเทห์หรือถูกร้องเรียนว่ามีการเรียกรับเงิน ก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เชิญผู้รับจ้าง สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัด สำนักงาน ป.ป.ท. เขตพื้นที่ และสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด มาพูดคุยกันต่อหน้า เพื่อสร้างความชัดเจนกันไปเลยว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์กันหรือไม่ อย่างไร ไม่เช่นนั้นจะเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสถาบันผู้ว่าราชการจังหวัด 
  ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวตอนท้ายว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและได้ดำเนินการป้องกันการทุจริตในทุกๆด้าน มิให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นในส่วนราชการ และเพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณของประเทศได้ถูกนำไปใช้พัฒนาประเทศชาติได้ตามเป้าหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน รวมถึงเป็นการแสดงถึงศักยภาพของผู้ว่าราชการจังหวัดในการกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณในพื้นที่ ให้มีความถูกต้อง โปร่งใส และเกิดประโยชน์คุ้มค่า ดังนั้นจึงขอให้ทุกฝ่าย ทั้งส่วนราชการ จังหวัด หน่วยงานตรวจสอบ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมมือผนึกกำลังกัน สร้างพลังร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบอย่างจริงจัง ให้บังเกิดผลและเป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อสร้างมิติใหม่ในการดำเนินโครงการที่ได้รับงบประมาณจะต้องปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และเกิดพลังร่วมกัน “ไม่รับ ไม่ให้” ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในการมีส่วนร่วมในการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและประพฤติมิชอบในภาครัฐของทุกภาคส่วน











0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น