pearleus

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2559

"ดาโต๊ะ"แห่งมูลนิธิเพื่อภารดรภาพในไทย นำสื่อสัมผัสวิถีพอเพียง"Love&Care"ในมาเลย์ ยึดเป็นโมเดลต่อยอด-หวังเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อมุสลิม

ดาโต๊ะ มูฮำมัด  อาดำ ประธานมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ  หรือ Global Ikhwan Foundation  เล่าที่มาของเครือข่ายมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ (GISB)ในประเทศมาเลเซีย ว่า เกิดจาก อิหม่าม อัชอารี บินมูฮำมัด อัตตามีมี   หรือที่รู้จักในนาม "อาบูยา" ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกดร.มหาเธร์ บิน โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นกักบริเวณด้วยถูกมองว่าเพื่อความมั่นคง  เพราะเป็นผู้ที่มีคนและลูกศิษย์ให้ความนับถือมากมาย  ท่านถูกกักบริเวณนานนับสิบปี  ไว้ที่บ้านหลังหนึ่งบริเวณ Bandar Country Home Ranwang  Selangor (ปัจจุบันคือ BCH  หรือ Ikhwan องค์กรการกุศลที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย) เดิมเป็นที่ที่มีแต่ชาวจีนอาศัยอยู่
                " เมื่อถูกกักบริเวณ ท่านใช้ความอดทนไม่ได้เรียกร้องใดๆ มีเพียงลูกและภรรยาที่ให้เข้ามาอยู่ด้วย สุดท้ายท่านขอพรจากพระเจ้า โดยตั้งอธิษฐานจิตว่า หากองค์กรเอ็นจีโอของท่านทำคุณประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์และประเทศชาติ ขอให้พระเจ้าพิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กรนี้เป็นองค์กรที่ตรงกับสัจจะ พระเจ้าโปรดพิจารณา หลังจากนั้น สิ่งต่างๆ ก็เริ่มเข้ามา มีคนยอมรับมากขึ้น จากจุดเริ่มต้นจากเลขศูนย์ มีภรรยา 4 คน ลูก 39 คน และหลาน 200 คน อยู่ด้วยกัน ท่านได้ขอกับหน่วยงานรัฐว่า ต้องทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว ขอเปิดมินิมาร์ทขึ้นเป็นแห่งแรก ให้ภรรยาและลูกช่วยกันทำข้าวผัดจำหน่าย เมื่อสังคมขยายตัวมากขั้น การก่อกำเนิดทายาท ต้องอาศัยห้องคลอด แต่เนื่องจากติดปัญหาทางศาสนา ผู้หญิงไม่สามารถคลอดโดยให้เพศชายทำได้ จึงได้ขอเปิดคลินิกคลอดบุตร จึงมีแพทย์ พยาบาลจิตอาสาผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาดูแลดาโต๊ะ เล่าถึงจุดกำเนิดของ"อิควาน" 
                ดาโต๊ะ กล่าวต่อว่า หลังจากการดูแลกันและกันของเหล่าจิตอาสาหมู่บ้านแห่งนี้จึงพัฒนาขึ้น ทำให้ปัจจุบันคลินิกมีแพทย์ประจำ 24 ชั่วโมง มี Global Ikhwanทั่วโลก 700 ยูนิต ทำธุรกิจที่หลากหลาย มีร้านอาหาร 120 กว่าร้าน ร้านเบเกอรี่ มากกว่า 80 ร้าน โรงงาน และอื่นๆ ในหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ดูไบ ซิดนีย์ เพิร์ธ จาการ์ต้า กรุงเทพฯ ภูเก็ต ฝรั่งเศส ไคโร เชียงใหม่ อิสตันบูล เป็นต้น  สามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยรายได้จากการทำธุรกิจเดือนหนึ่งละ  3 ล้านมาเลเซีย หรือ 30 ล้านบาทไทย  เป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ของการเป็นเศรษฐกิจพอเพียง
                ดาโต๊ะ เล่าด้วยว่า  เมื่อเกิดความสำเร็จมากมายจนสามารถเลี้ยงดูผู้คนใน BCH สำเร็จที่ท่านอาบูยา กล่าวไว้ว่า เป็นลิขิตของพระเจ้า ซึ่งสุดท้าย นาจิบ ราซะก์ นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ก็ปล่อยให้อาบูยาให้เป็นอิสระ และยกย่องให้เป็นบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ สำหรับ Global Ikhwan Foundation นี้  จึงเกิดโรงเรียน และอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งดาโต๊ะต้องการนำรูปแบบนี้ทำที่เมืองไทย
                 สำหรับมูลนิธิเพื่อภราดรภาพในเมืองไทย มีดาโต๊ะ มูฮำมัด อาดำ เป็นประธานและผู้ก่อตั้ง จดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 กันยายน ปี 2554   โดยก่อนหน้านั้นดาโต๊ะ ร่วมดูแลโรงเรียนสอนศาสนา ที่จ.ภูเก็ต มากว่า 15 ปีแล้ว   เป็นโรงเรียนสถาบันศาสนา โดย ฮัจยะห์ มะปะห์ ยุคุณธร  บริจาคที่ดินให้ สร้างอาคารเรียนและจากที่ตัวเองสอนหนังสือมานาน ได้เห็นเด็กยากจน เด็กกำพร้า เด็กพิการ แม่ม่ายที่ดูแลบุตรตัวคนเดียว จึงคิดว่าน่าจะให้ความช่วยเหลือ และอุปการะคนเหล่านี้ จึงปรึกษากับผู้อาวุโสและคณะครู จึงจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมา เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคณะครูและคณะกรรมการต่างๆ คำว่าภราดรภาพ แปลว่า มิตรภาพของเพื่อนพ้องมิตรแท้ที่มารวมตัวกัน ในภาษาอาหรับ คือคำว่า อิควาน  จดทะเบียนเลขที่ 3 /21 ปุทมธานี
                ดาโต๊ะ บอกว่า พ่อแม่ท่านให้ที่ดินมา 7 ไร่กว่า เพื่ออุทิศในการทำมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกและผู้ใจบุญนจากหลากหลายอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่มีธุรกิจส่วนตัวอยู่แล้ว รายได้ส่วนนี้จึงมาเป็นตัวหล่อเลี้ยงมูลนิธิฯ โดยมีเป้าหมาย เพื่ออุปถัมภ์ด้านทุนการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาส เด็กกำพร้า เด็กยากจน และช่วยเหลือหญิงม่ายที่ยากจน และเป็นสื่อกลางสำหรับการรับบริจาคทั้งสิ่งของและเงิน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ด้อยโอกาสที่ว่าเหล่านี้ต่อไป รวมถึงการบูรณะศาสนสถาน การช่วยเหลือครูผู้ยากไร้ ซึ่งปัจจุบันนอกจากสอนศาสนาแล้วยังสอนอาชีพให้กับเด็กๆ และหญิงม่าย เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องเป็นภาระของสังคม
                อย่างไรก็ตามการเดินทางนำสื่อมวลชนมาเยี่ยมเครือข่าย GISB ในมาเลเซีย เพื่อให้ได้มองเห็นการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้หลัก"Love &Care" ที่ดาโต๊ะ มูฮำมัด เป็นที่ปรึกษา GISB  ที่มีเครือข่ายทั่วโลก เพื่อให้สื่อมวลชนได้เข้าใจและสัมผัสถึงชาวมุสลิม ที่รักสันติยึดวิถีชีวิตพอเพียงอย่างครบวงจรนั้นเป็นอย่างไร เขามีแต่ความรัก ความเอื้ออาทรต่อกันไม่แฝงการเมือง ไม่แฝงผลประโยชน์ ทุกคนช่วยกันจริงๆ เพื่อจรรโลงให้ทุกคนอยู่กันอย่างมีความรัก มีความสันติสุข
                "ดาโต๊ะมาดูงานเพื่อนำไปพัฒนาที่เมืองไทย ดาโต๊ะเป็นคนที่ชอบการพัฒนา ชอบที่จะรับใช้สังคมอยากทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองตามความสามารถที่มี จนได้มาเจอกับอาบูยา ที่ท่านพัฒนาจากตัวเองก่อน และไปที่ครอบครัวและไปสู่คนรอบข้าง ทำให้ดาโต๊ะมีความคิดว่า ทำอย่างไรจะให้มีวิถีชีวิตพอเพียงเกิดขึ้น เมื่อมาศึกษางานที่นี่จึงเห็นว่าตรงกับที่ตัวเองต้องการ จึงนำไปทำที่เมืองไทย ก็ได้รับการตอบรับดีมาก เราก็ลิงค์กับมาเลเซีย เพราะเขาทำงานในนามมูลนิธิฯ  จดทะเบียนเป็นโกลบอลอิควาน แปลว่า ภราดรภาพ เมื่อเขาเห็นเราทำงานจริงจัง จึงถือเป็นโมเดล ที่เราจะนำกลับไปทำที่เมืองไทย"ดาโต๊ะ มูฮำมัด กล่าวถึงความมุ่งมั่น ท่านบอกด้วยว่ามูลนิธิเพื่อภารดรภาพของไทย ยังไม่มีคลินิก แต่มีทีมที่เป็นหมอแผนโบราณ มานวดเพื่อการรักษา มีสปา  มีครูจากกศน.มาสอนอาชีพกว่า 40 อาชีพ  ส่วนเงินทุนเริ่มต้นจากบรรดาจิตอาสาในทีมก่อน หลังจากนั้นแต่ละคนก็บอกต่อๆกันไป และเมื่อผู้มีจิตศรัทธาเห็นว่า เราทำงานจริง จึงเริ่มสนับสนุนเพิ่มเข้ามา
                "เรามีแนวคิดว่าน่าจะทำธุรกิจเหมือนกับที่โกลบอลอิควานทำ คือ เปิดร้านอาหาร ทำสวนเกษตร เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และฝึกอาชีพ ทำทัวร์ ต่าง ๆ เพื่อหารายได้เข้ามาจุนเจือให้มูลนิธิฯ ปัจจุบันเราสร้างเยาวชนขึ้นมาเป็นแกนนำ ก็เปิดร้านอาหาร มีที่เชียงใหม่ ภูเก็ต สตูล หาดใหญ่ มีนบุรี ที่เน้นเปิดร้านอาหารเพราะสามารถรู้กำไรขาดทุนวันนั้นได้เลย และทำให้เห็นรายได้เลยว่าจะจุนเจือช่วยเหลืออย่างไร และเด็กได้กินอิ่ม ญาติพี่น้องของนักเรียนมาก็เลี้ยงดูได้เลย อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของผู้เข้ามา ทำให้ได้รู้จักและรับรู้ถึงกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ เกือบทุกครั้งที่นำเสนอ ลูกค้าที่ศรัทธาจะบอกว่าไม่ต้องทอน ร่วมบริจาคเลย รายได้เข้ามามากกว่าการจำหน่ายอาหารด้วยซ้ำ มูลนิธิเพื่อภราดรภาพในประเทศไทย จึงเป็นส่วนหนึ่งของ GISB เช่นกัน"  
                ดังนั้นในฐานะเป็นตัวแทนจากประเทศไทย มูลนิธิเพื่อภราดรภาพ ในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของโกลบอลอิควาน  โดยมี Dato Lokman Hakim Pfordten Abdul Rahim  CEO  ชาวมาเลเซีย ซึ่งตอนนี้มี 24 ประเทศ ผู้หญิงจะไปฝึกงานร้านอาหาร อาหารเน้นการปรุงแบบฮาลาลตรงหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งฮาลาลหมายถึงคนเชื้อชาติใดก็สามารถทานได้ แต่ถ้าไม่มีฮาลาล มุสลิมกินไม่ได้ จึงเน้นฮาลาล ซึ่งไม่ใช่กฎเกณฑ์ แต่อยู่ที่ว่าสิ่งที่ทำตรงกับหลักการ ความสะอาด ความถูกต้อง โดยมีสต๊าฟ เป็นพี่เลี้ยง การเรียนในโรงเรียนของมูลนิธิ จะเน้นเรื่องการเรียนครึ่งวันและฝึกอาชีพครึ่งวัน  ผู้ชายเน้นเรื่องเรียนศาสนาและอาชีพ เรียนควบคู่กัน เมื่อเรียนจบ แล้วแต่ว่านักเรียนจะอยากทำอะไร หากต้องการทำร้านอาหารก็จะมีการเปิดร้านให้ โดยธุรกิจมี40 กว่าอย่าง เช่นอู่ซ่อมรถ โรงงานเส้นหมี่ เกษตรเลี้ยงปลา และดูตามความเหมาะสมและความถนัดของนักเรียน
                "ดาโต๊ะ อยากให้สื่อมวลชนได้ทราบถึงการบริหารจัดการมูลนิธิของเรา โดยนำสิ่งดีๆ ไปเป็นตัวอย่าง และเผยแพร่หากจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะประเทศไทยที่ผมรัก ผมอยากให้คนไทยอยู่ในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ใช่รอของบจากหน่วยงาน  อยากให้พัฒนาตนเองและชุมชนด้วยตัวเอง การเปิดโรงเรียนของเราไม่ได้ต้องการเปิดใหญ่โต เหมือนกับการเลี้ยงปลาในกระชัง  สามารถดูแลและปกป้องง่าย เพียงแต่เปิดหลายๆ จุด และขยายไปยังที่ต่างๆ เนื่องจากเรามีเครือข่ายทั่วโลก จึงขึ้นอยู่กับความเก่งของผู้บริหาร ซึ่งสมาชิกมีทั้งคริสต์ พุทธ ครับ "
                คุณรชต ลาตีฟี หนึ่งในมุสลิมใจบุญจากเมืองไทย ที่เข้ามาเป็นจิตอาสามูลนิธิเพื่อภราดรภาพ กล่าวเสริมด้านการศึกษาในมูลนิธิฯ ว่า  เห็นรูปแบบการศึกษาของมาเลเซีย แล้วได้ผล จึงนำระบบการศึกษาของโกลบอลอิควาน มาใช้เมืองไทย หลังจากนั้นดาโต๊ะจึงมีดำริว่า คนที่มาส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน มีปัญหา จึงคิดว่าน่าจะมีมูลนิธิ จึงมาศึกษา เขามีมูลนิธิที่เลี้ยงดูเด็ก จึงเชื่อมกันจากจุดนั้น ตอนนี้การศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. ได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของเราและเห็นถึงการสอนอาชีพในมูลนิธิฯ  จึงคิดว่าน่าจะมีหลักสูตรพื้นฐาน เมื่อปีที่แล้วจึงเข้ามาจัดตั้งศูนย์ กศน.ที่มูลนิธิเพื่อภราดรภาพ แล้ว เป็นการยกระดับการศึกษา โดยนำครูและวิทยากรต่างๆ มาช่วยสอนภาคสามัญและนำเด็กในมูลนิธิฯ มาเรียนกศน.ด้วย
                "สิ่งที่อยากให้สังคมได้รับรู้  คือ วิถีชีวิตของคนมุสลิม ภาพลักษณ์ต่างๆ ถูกมองไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องและถูกเผยแพร่ขยายความไปโดยสื่อมวลชน ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ได้นำสื่อมวลชนเข้ามาสัมผัส เพราะผมก็เป็นมุสลิมคนหนึ่งแต่ไม่เคยมีวิถีชีวิตแบบนี้  และครั้งหนึ่งเมื่อได้เข้ามาสัมผัส  รู้สึกว่า ใช่ จริงๆ ทำให้ผมรู้สึกว่าอยากบอกต่อ และอยากชวนให้คนทั่วไปได้มาเห็นอย่างที่ผมเห็นและสัมผัส อย่างน้อยๆ ได้รู้ว่าวิถีชีวิตของชาวมุสลิมเป็นแบบไหน ชีวิตเป็นอย่างไร ที่ฟังมาไม่ใช่ อย่างน้อยเป็นหนึ่งเสียงที่สามารถพูดออกไปได้ว่ามุสลิมไม่ใช่มีแต่ภาพที่เขาเผยแพร่กัน ตรงนี้เป็นวัตถุประสงค์หลักเลยที่ผมเชิญสื่อมวลชนมา เพื่อให้เขามีกระบอกเสียง เพื่อให้คนได้มองคนมุสลิมในมุมที่ดีขึ้น  ผมยินดีมากหากจะมีสื่อท่านใดต้องการมาสัมผัสและเข้าใจวิถีของมุสลิม "คุณรชต กล่าวและว่า  สื่อมวลชนมาจะเป็นกระบอกเสียงที่ช่วยกรองข่าวที่จะเผยแพร่ออกสู่สาธารณะชน ให้รับทราบว่าจริงๆแล้ววิถีชีวิตมุสลิมเป็นแบบไหน ซึ่งสื่อเองเมื่อได้สัมผัสแล้วถ่ายทอดไป จะมีความน่าเชื่อถือ เพราะนำเสนอเรื่องจริงที่ได้จากประสบการณ์ตรง พร้อมแจ้งว่า ในวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2560 ทางมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ จะจัดงานภายใต้ธีมส์Love & Care โดยจัดเป็นอินเตอร์  ให้มีการแต่งงานหมู่ โดยเชิญคู่บ่าว สาว จากเครือข่ายทั่วโลก  มาเข้าพิธีสมรสหมู่ที่นี่ ประมาณ 30 คู่  มีการฉายภาพยนตร์ มีละครเวทีกำกับการแสดงโดย มารุต สาโรวาท เป็นการนำส่วนประวัติศาสตร์ของศาสดามาถ่ายทอดในรูปแบบละครเวที จะมีการทำบทเพลงหรือนาซิส แปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนทุกศาสนาเข้าใจได้ง่ายขึ้น นำเนื้อหามาแปลและแต่งให้สวยงามขึ้นโดยหลักการยังอยู่เหมือนเดิม และมีการแจกสิ่งของ มอบทุนการศึกษา โดยจะจัดให้มีการแถลงข่าวงานสมรสหมู่ในเดือนมกราคม 2560 

                โดยดาโต๊ะ กล่าวเสริมว่า  ในยุคปัจจุบัน การแต่งงานต้องใช้งบสูง ค่อนข้างสิ้นเปลืองทั้งค่าสินสอด ค่าโรงแรมและพิธีการต่างๆ จึงทำให้ตัดสินใจไม่แต่งงานกัน ใช้การอยู่ร่วมกันไปเลย ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอีกด้วย ซึ่งก่อนการแต่งงาน ทางมูลนิธิฯ จะจัดอบรม ให้รู้ถึงการปฏิบัติตัว การใช้ชีวิตคู่ การอยู่ด้วยกันอย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ซึ่งการจัดการแต่งงานหมู่ ยังเข้ากับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในการประหยัดและถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพอเพียงด้วย...


การทักทาย

การทักทายต่อผู้อาวุโส

การแต่งกายที่สวยงามของเด็กๆ

คณะสื่อฯจากไทย

งานฉลองวันคล้ายวันประสูติของพระศาสดา

งานฉลองฯ

ดาโต๊ะ-รชต

ดาโต๊ะ

ส่วนหนึ่งของอาหารงานบุญ


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น