pearleus

วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีการศึกษา 2558 ที่จังหวัดนครปฐม


เมื่อ 30 ธันวาคม 2559 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีการศึกษา 2558 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการศูนย์ สถาบัน สำนัก อาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษา เฝ้าฯ รับเสด็จ

          ในการนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับในปีนี้ มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวน 5,538 คน และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ได้แก่ นายชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทัศนศิลป์ , รองศาสตราจารย์กรรณิการ์ วิมลเกษม ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาจารึกการศึกษา , รองศาสตราจารย์พรรณเพ็ญ ฉายปรีชา ศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ และนายประทักษ์ ใฝ่ศุภการ ดุริยางคศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดนตรีแจ๊ส เกียรติบัตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ ได้แก่ ศาสตราจารย์วิชัย สิทธิรัตน์ , ศาสตราจารย์กัญญา เจริญศุภกุล และศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ และประกาศเกียรติคุณผลงานวิจัยดีเด่น ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง

          โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาท ความว่า "บัณฑิตทั้งหลายต่างก็ได้รับปริญญาเป็นเครื่องรับรองความรู้ และได้กล่าวคำปฏิญาณว่าจะใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ นับเป็นการให้คำมั่นสัญญาที่มีคุณค่ามาก แต่การที่จะปฏิบัติตามคำปฏิญาณให้ได้จริงนั้น บัณฑิตต้องยึดมั่นในสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องมีประกอบส่งเสริมกับความรู้เสมอไป ไม่อาจแยกขาดจากกันได้  สิ่งสำคัญที่ว่านี้ ก็คือคุณธรรม อันเป็นเครื่องกำกับควบคุม ให้แต่ละคนใช้ความรู้ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และชี้ชัดตัดสินว่าควรนำความรู้ไปใช้อย่างไรให้สำเร็จผลเป็นประโยชน์แท้ หากขาดคุณธรรมคอยประคับประคองป้องกัน ก็มีโอกาสที่คนเราจะใช้ความรู้ไปในทางชั่วทางเสื่อม ซึ่งนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแล้ว ยังกลับเป็นโทษเป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่นด้วย จึงขอให้บัณฑิตทุกคนสร้างสมอบรมคุณธรรมให้เจริญงอกงามควบคู่กับความรู้ จะได้สามารถรักษาคำสัตย์ปฏิญาณอันได้กล่าวไว้ ตลอดจนสร้างสรรค์ประโยชน์ตน ประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างสมบูรณ์"















0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น