ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งด่วน ผู้ว่าฯ - นายอำเภอภาคใต้ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยตามแผนบริหารจัดการ ย้ำขอให้ผู้นำท้องที่และท้องถิ่นลงพื้นที่ดูแลพี่น้องประชาชนด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด
เมื่อ 3 ธ.ค59 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่หลังจากมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่พัดผ่านพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ 1 ธ.ค.59 ที่ผ่านมา
โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำและให้ข้อแนะนำในการบริหารจัดการเพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. ให้กำหนดพื้นที่ปฎิบัติการให้ชัดเจน โดยให้แบ่ง "พื้นที่ประสบภัย" หรือ "คาดว่าจะประสบภัย" ให้ชัดเจนว่าอยู่บริเวณไหนและแนวโน้มของสถานการณ์จะลุกลามหรือขยายพื้นที่ต่อเนื่องไปบริเวณใดบ้าง
2. กำหนดวิธีการช่วยเหลือ หรือบรรเทาภัยให้เหมาะสม สอดคล้องกับพื้นที่เกิดเหตุเช่น บริเวณพื้นราบเชิงเขาต้องเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือ กรณีดินโคลนถล่ม หรือพื้นที่ราบลุ่มริมแม่นำ้ต้องเตรียมเรือ ส่วนพื้นที่ชุมชนให้จัดหาเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ เป็นต้น
3. กำหนดหน่วย หรือผู้รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจนว่าพื้นไหนใครหรือหน่วยใดเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับหน่วยราชการภูมิภาค และส่วนกลาง หรือภาคเอกชน เป็นต้น
4. การจัดลำดับความสำคัญของการช่วยเหลือหรือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เช่น การนำประชาชนหรือช่วยเหลือประชาชนจากพื้นที่ที่น้ำท่วมสูง การแจกจ่ายน้ำเครื่องดื่ม อาหาร เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์ที่จำเป็นของผู้ประสบภัย เป็นต้น
5. กำหนดตัวผู้มีอำนาจบัญชาการหรือมีอำนาจตัดสินใจให้ชัดเจน
6. จัดตั้งผู้รับผิดชอบในการสื่อสารหรือประชาสัมพันธ์ชี้แจงในเรื่องต่างๆที่ส่วนราชการได้ลงไปดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิดแล้วเพื่อให้สาธารณชนทราบทุกช่องทางและทุกระยะด้วย
7. ให้รายงานแผนเตรียมความพร้อมในการปฎิบัติตามหัวข้อข้างต้นให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้รับรายงานในส่วนกลางทราบ และเห็นภาพของการปฎิบัติของหน่วยในพื้นที่ซึ่งจะทำให้ผู้บังคับบัญชาในส่วนกลางสามารถสั่งการหรือสนับสนุนหน่วยปฎิบัติในพื้นที่ได้ถูกต้องเหมาะกับสถานการณ์ในพื้นที่
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นในฐานะหัวหน้าส่วนราชการภูมิภาคและผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในท้องถิ่น ลงไปดูแลพี่น้องประชาชนและตรวจพื้นที่เกิดเหตุด้วยตนเองให้เป็นประจำเพื่อจะได้ประเมินสถานการณ์และแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง พร้อมย้ำให้ทุกฝ่ายเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเต็มที่
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น