pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พม. จัดประชุมพัฒนากลไก CGEO/GFP ในหน่วยงานภาครัฐมุ่งสร้างแนวทางืการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ

  

 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 59  เวลา 09.30 น. พลเรือเอก ณรงค์  พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำ สู่สังคมเสมอภาค” ณ ห้องจูปิเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
     พลเรือเอก ณรงค์ กล่าวว่า จากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อ 25 กันยายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งสิ้น 17 เป้าหมาย โดยเป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ และได้พยายามขับเคลื่อนนโยบายการสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคมไทย โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 31 กรกฎาคม 2544 กำหนดให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม มอบหมายผู้บริหารระดับรองปลัดกระทรวงหรือรองอธิบดีขึ้นไป จำนวน 1 คน ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (Chief Gender Equality Officer หรือ CGEO) มอบหมายหน่วยงานระดับสำนัก/กอง ปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Gender Focal Point หรือ GFP) และจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายของหน่วยงาน อีกทั้งมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 31 มีนาคม 2558 กำหนดให้มีการปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ CGEO และ GFP โดยกำหนดให้ปลัดทุกกระทรวงเป็น CGEO กระทรวง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมาก และได้ดำเนินการขับเคลื่อนโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
     นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มีภารกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การพัฒนากลไกด้านความเสมอภาคระหว่างเพศในหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และตระหนักในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการ ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการการบูรณาการแนวคิด “มุมมองมิติหญิงชาย และความเสมอภาคระหว่างเพศ” เข้าไปในทุกๆ กระบวนการทำงานของหน่วยงาน ทั้งในมิติการบริหารจัดการภายในองค์กร การดูแลข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ทั้งหญิงและชายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งในเรื่องโอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ และสภาพการทำงานที่เอื้อต่อการแสดงศักยภาพของแต่ละบุคคล และมิติภายนอกองค์กร ซึ่งหมายถึง การดำเนินงานตามภารกิจหลักของหน่วยงานที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งหญิงและชาย โดยการจัดทำงบประมาณและแผนงานโครงการที่คำนึงถึงความต้องการที่แตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชาย รวมถึงความแตกต่างของประชาชนกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มชนเผ่า ชาวเขา ชาวเล และกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี จึงได้จัดการประชุมฯ ในวันนี้ขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทุกคน เพื่อให้การขับเคลื่อนสอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี บรรลุยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นายเลิศปัญญา กล่าวท้าย
     กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ การบรรยายพิเศษ การเสวนาเรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ” ผู้ร่วมงานประกอบด้วย ผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย หรือ CGEO หัวหน้าและเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย หรือ GFP จาก 19 กระทรวง และหน่วยงานอิสระ รวม 135 หน่วยงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาสถานภาพสตรี (กสส.) ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ (กยค.) ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้อำนวยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว ผู้สังเกตการณ์ และสื่อมวลชน จำนวน 350 คน
****************************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น