pearleus

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ปลัดมหาดไทย แจงแนวทางแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและคนไร้สัญชาติ ตามมติ ครม. 7 ธันวาคม 2559 ย้ำชัดเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนตามหลักสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานของกฎหมายสัญชาติ

            เมื่อ 17 ธ.ค.59 นายกฤษฎา บุญราช  ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ได้มีมติอนุมัติแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและคนไร้สัญชาติในประเทศไทย ตามข้อเสนอของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติและสถานะของเด็กนักเรียนและบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในราชอาณาจักรไทย 
     กระทรวงมหาดไทยจึงขอชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และรับทราบถึงเจตนารมณ์ในการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว ดังนี้ 
      เรื่องแรก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเด็กที่เกิดในประเทศไทย แต่ต้องกลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการของร่างกฎกระทรวง ซึ่งเป็นการออกตามกฎหมายสัญชาติมาตรา 7ทวิ วรรค3 ที่กำหนดไว้ เพื่อให้  "บุตรของคนต่างด้าวทุกกลุ่มที่เกิดในประเทศไทย"  สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี
ในข้อหาเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ว่าบิดาหรือมารดาจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม โดย "สิทธิอาศัย" ของบุตรจะเป็นไปตามสิทธิของบิดาหรือมารดา และสิทธิอาศัยนั้นก็จะติดตัวเด็กต่อไปตราบเท่าที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี     
    โดยการให้สิทธิอยู่อาศัยตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จึงไม่เกี่ยวกับการ "ให้ถิ่นที่อยู่" และ "ให้สัญชาติไทย" กับบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยแต่อย่างใด และไม่ได้เป็นการรับรองสิทธิหรือให้สิทธิพิเศษอะไรแก่คนต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย เพราะคนต่างด้าวเหล่านั้นจะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ที่กฎหมายคนเข้าเมืองกำหนดไว้  
      สาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้จึงเป็นเพียงการรับรองสิทธิอาศัยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นบุตรที่เกิดในประเทศไทย มิให้ต้องตกเป็นผู้กระทำความผิดฐานเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการได้สัญชาติไทยซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายสัญชาติและหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นการเฉพาะ     
      และในการพิจารณาว่า "เด็กหรือบุตร" ของคนต่างด้าวรายใดจะได้ "สิทธิอาศัย" อยู่ในประเทศไทยได้ตามกฎกระทรวงที่จะออกมานั้นหรือไม่จะต้องดู 1. หลักฐานการเกิดของเด็กว่าเกิดในประเทศไทยหรือไม่ และ 2. หลักฐานการเข้ามาในประเทศไทยของบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวเป็นสำคัญ 
       เพื่อจะได้แยกแยะว่าเด็กจะอยู่อาศัยในฐานะใด เช่น บิดามารดาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ทางราชการได้จัดทำทะเบียนประวัติไว้ซึ่งถือว่าเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวโดยต้องอยู่ในพื้นที่ควบคุม บุตรของคนกลุ่มนี้ก็จะได้สิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยเหมือนบิดามารดาเช่นกัน หรือในกรณีที่บิดามารดาเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง บุตรที่เกิดในประเทศไทยก็จะมีฐานะเช่นเดียวกับบิดามารดา แต่อนุญาตให้เด็กอาศัยอยู่ได้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอการดำเนินการตามกฎหมายหรือรอนโยบายของรัฐที่จะดำเนินการกับผู้เป็นบิดามารดา และเมื่อบิดามารดาเดินทางออกไปนอกประเทศไทย หรือถูกส่งกลับประเทศต้นทาง หรือเดินทางไปประเทศที่ 3 แล้วแต่กรณี เด็กก็จะเดินทางออกไปพร้อมกับบิดามารดาด้วย ดังนั้นกฎกระทรวงฉบับนี้จึงเป็นการคุ้มครองเด็กที่เป็นบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ทำให้เด็กรอดพ้นจากการถูกจับดำเนินคดีเช่นเดียวกับบิดามารดาเท่านั้น 
 
     เรื่องที่สอง เป็นการแก้ไขปัญหา "คนที่เกิดในประเทศไทยแต่ไร้สัญชาติ"  โดยคณะรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายสัญชาติมีมติอนุมัติให้เด็กที่เกิดในประเทศไทยซึ่ง "เป็นบุตรของคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว"  และ  อยู่ในระหว่างการศึกษาเล่าเรียน หรือเป็นกรณีที่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว ให้มีสิทธิขอมีสัญชาติไทยเป็นการทั่วไปตามขั้นตอนของกฎหมายสัญชาติได้ 2 กรณี ได้แก่ 
     (1) บุตรของคนต่างด้าวกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำทะเบียนและออกบัตรประจำตัวไว้แล้วกับสำนักทะเบียนอำเภอ ซึ่งคนที่เป็นบิดาหรือมารดาจะต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี บุตรที่เกิดในประเทศไทยจึงจะมีสิทธิขอมีสัญชาติไทยได้ 
     (2) บุตรของคนต่างด้าวอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย ที่เกิดและเรียนหนังสือในประเทศไทยจนจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีแล้ว เท่ากับว่าเป็นคนอาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 20 ปี ก็ให้สิทธิขอมีสัญชาติไทยได้เช่นเดียวกับกรณีแรก   
      แต่ถ้าเด็กกลุ่มนี้ยังเรียนไม่จบปริญญาตรี จะต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะขอมีสัญชาติไทยได้ หรือถ้าเป็นกรณีเด็กที่ถูกบิดามารดาทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์จนไม่สามารถพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงได้ว่าใครเป็นบิดามารดา เด็กจะใช้สิทธินี้ได้ต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงจะขอมีสัญชาติไทยได้     
    ขณะเดียวกันบุคคลทั้งสองกลุ่มที่จะขอมีสัญชาติไทย ได้จะต้องมี "สูติบัตร" หรือ "หนังสือรับรองการเกิด" ที่ออกให้โดยนายทะเบียนของสำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น เป็นหลักฐานแสดงว่าเกิดในประเทศไทย และต้องมีทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักและลายพิมพ์นิ้วมือพร้อมทั้งรูปถ่ายตามที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นออกให้ด้วย รวมทั้งต้องมีความประพฤติดี     
   นอกจากนั้น ผู้ขอมีสัญชาติไทยต้องเตรียมหลักฐานอื่นที่จำเป็นต่อการพิจารณาอนุมัติให้มีสัญชาติไทยด้วย เช่น กรณีบุตรของชนกลุ่มน้อยก็ต้องมีทะเบียนประวัติของบิดาหรือมารดาที่แสดงว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่ราชการได้จัดทำทะเบียนประวัติไว้หรือหลักฐานหรือหนังสือรับรองของสถานศึกษาที่แสดงว่าผู้ยื่นคำร้องอยู่ในระหว่างการศึกษาหรือกรณีใช้คุณสมบัติการจบปริญญาตรี ก็ต้องมีปริญญาบัตรหรือหนังสือรับรองจากสถาบันการศึกษา เป็นต้น 
     สำหรับหน่วยงานที่จะรับคำร้องขอมีสัญชาติไทยของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้แก่ ที่ว่าการอำเภอ (สำนักทะเบียนอำเภอ)ตามภูมิลำเนาที่คนเหล่านั้นมีที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติที่ทางราชการจัดทำไว้ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มมีนักเรียนนักศึกษาซึ่งเป็นเด็กหรือเยาวชนที่เกิดในประเทศไทยที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยจำนวนประมาณ 80,000 คน
     
   ดังนั้น จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยครั้งนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐและไร้สัญชาติที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สิทธิเฉพาะเด็กที่เกิดในประเทศไทยและอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานไม่น้อยกว่า10 ปีถึง 20 ปี แล้วแต่กรณี จนมีวิถีการดำเนินชีวิตเหมือนคนไทยทั่วไป และประการสำคัญเด็กหรือบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาหรือจบการศึกษาระดับปริญญาตรีตามระบบการศึกษาของไทยแล้ว ประกอบกับสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง มีฐานข้อมูลรายการบุคคลสำหรับตรวจสอบป้องกันการสวมสิทธิไว้แล้ว มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นไปตามหลักการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนทางด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายสัญชาติที่ได้ประกาศใช้มานานแล้ว แต่ยังไม่มีการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ถูกต้องสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสัญชาติให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นธรรมซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก(CRC)ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีมาตั้งแต่ พ.ศ.2539  
    ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า มติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ จึงเป็นการกำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายสัญชาติให้ถูกต้องและเกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยหลังจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. ... ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น