pearleus

วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560

อธิบดี สค. ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เปิดบ้านงานอาชีพ ประจำปีงบประมาณ 2560 และมอบวุฒิบัตรผู้สำเร็จการฝึกอาชีพ ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ

                                             
                                                                                                                                                           

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 60 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ  จังหวัดลำปาง นายเลิศปัญญา  บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เกียรติเป็นประธานมอบวุฒิบัตรผู้สำเร็จการฝึกอาชีพ รุ่นที่ 76 ผู้สำเร็จการฝึกอาชีพโครงการสร้างชีวิตใหม่ให้สตรีและครอบครัว และกิจกรรมเปิดบ้านงานอาชีพ ประจำปีงบประมาณ  2560 จำนวน 376 คน กล่าวรายงาน โดย นายชาลี สมมาตร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีฯ ในการนี้ หัวหน้าหน่วยงานในสังกัด พม. และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดลำปางได้มาร่วมเป็นเกียรติในงานดังกล่าว
                                       
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีความมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนสามารถพัฒนาตนเอง และพึ่งพาตนเองในการประกอบอาชีพ มีรายได้ที่ยั่งยืน ครอบครัวมีความมั่นคง ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข เป็นพื้นฐานในการพัฒนาสังคมด้านอื่น ๆ โดยมีกลไกระดับพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน คือ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 ศูนย์ 8 เขตรับผิดชอบ ซึ่งให้บริการครอบคลุมภารกิจที่ได้ดำเนินงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการพัฒนาสถานภาพ ศักยภาพสตรี โดยการฝึกอาชีพสตรี เพื่อยกระดับสถานภาพ คุณภาพชีวิต ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แก่สตรีและเยาวสตรีที่ขาดโอกาสทางการศึกษา สถานะยากจน สตรีที่ถูกเลิกจ้างและว่างงาน สตรีกลุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณีและการค้ามนุษย์
ควบคู่กับการได้รับสวัสดิการ 2) ด้านการพัฒนาสตรีและครอบครัวในชุมชน ด้วยการฝึกอบรมอาชีพในชุมชนให้กับสตรีและครอบครัว ให้มีความรู้ ทักษะอาชีพ และรวมกลุ่มประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง พร้อมทั้งจัดสวัสดิการในการฝึกอบรมอาชีพในพื้นที่รับผิดชอบ 3) ด้านสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ การคุ้มครองสวัสดิภาพ การส่งเสริมความมั่นคงของกลุ่มเป้าหมาย และ 4) การเสริมสร้างความมั่นคงของชีวิตและสังคม โดยจัดให้การสงเคราะห์เงินทุนสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง เหล่านี้เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนในชนบท และเห็นความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในท้องถิ่น เพื่อป้องกันปัญหาสังคมด้านอื่น ๆ
พร้อมระบุว่า ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง แห่งนี้เป็น 1 ใน 8 ศูนย์ดังกล่าวที่ได้ดำเนินการฝึกอาชีพให้กับสตรีและเยาวสตรีในสถาบันครอบคลุม 17 จังหวัดภาคเหนือ และมีพื้นที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามภารกิจพิเศษของ สค. ในพื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และลำปาง ในหลักสูตรการฝึกอบรมต่าง ๆ ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 76 มีผู้สำเร็จการฝึกอบรมอาชีพรวมทุกประเภทจำนวน 4,164 คน และมีความประสงค์เข้ารับวุฒิบัตร จำนวน 376 คน ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาทักษะอาชีพแก่กลุ่มเสี่ยงในสถาบันจำนวน 1,083 คน ประกอบด้วย ฝึกอาชีพหลักสูตรระยะสั้น 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน อีกทั้ง หลักสูตรระยะสั้น 6 เดือน ต่อเนื่อง 3 ปี เทียบเท่า ปวช. และหลักสูตรระยะสั้น 6 เดือน ต่อเนื่อง 2 ปี เทียบเท่า ปวส. ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง วิทยาลัยการอาชีพเกาะคา และศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองลำปาง
 (2) โครงการที่ดำเนินการในชุมชนและนอกสถาบัน จำนวน 3,081 คน ประกอบด้วย โครงการสร้างชีวิตใหม่ให้สตรีและครอบครัว โครงการสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจแก่สตรี โครงการสนับสนุนการรวมกลุ่มประกอบอาชีพ 110 วัน โครงการฝึกอาชีพเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเพิ่มทางเลือก สร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และการถูกล่อลวง (ฝึกอาชีพระยะสั้น) โครงการพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ สู่การมีรายได้เพื่อชุมชนเข้มแข็ง (การพัฒนาอาชีพ 20วัน) โครงการส่งเสริมสัมพันธภาพของครอบครัว (ค่ายครอบครัว) โครงการฝึกอบรมต้นกล้าครอบครัว เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการค้าประเวณี โครงการฝึกอบรมต้นกล้าครอบครัวในโรงเรียนเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังและเฝ้าระวังปัญหาการค้าประเวณี และโครงการเงินอุดหนุนสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง
"ศูนย์ฯ แห่งนี้ผู้ใช้บริการในสถาบันส่วนใหญ่ ประมาณ 80 % เป็นชนเผ่า ซึ่งมีจำนวนมากถึง 12 ชนเผ่า จึงทำให้เกิดแนวคิดในการจัดทำโครงการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชนเผ่า เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการปักผ้าชนเผ่าและการนำผ้าปักมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลการดำเนินงานได้ก้าวหน้าเป็นลำดับเป็นที่ภาคภูมิใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม และผมขอให้ทุกท่านมีการพัฒนาต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ ศูนย์ฯแห่งนี้เปรียบเสมือนบ้าน เสมือนโรงเรียนของทุกคน เมื่อจบออกไปแล้วก็ยังสามารถกลับเข้ามาเยี่ยมเยียนกันได้เหมือนเดิม และจะเป็นกำลังใจอย่างดียิ่งสำหรับครูผู้ฝึกสอนถ้าท่านออกไปเจริญก้าวหน้าแล้วไม่ลืมศูนย์ฯ ยังย้อนกลับมาเป็นพี่เลี้ยงแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับรุ่นน้องต่อไปครับ สุดท้ายผมขอให้ทุกท่ารมีพลังกาย พลังสติปัญญา พลังใจ ในการดำเนินชีวิตของตนเองให้เข้มแข็ง มีการประกอบอาชีพสุจริต ครองตนเอง และครอบครัว ให้มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงในสังคมปัจจุบันได้อย่างปกติสุข” นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย



***********************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น