pearleus

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สรรพสามิตแถลงผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตสั่งปิดไปกว่า200ราย‏

เมื่อ 1 สิงหาคม 2559  สรรพสามิตแถลงผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต และทำลายของกลางสุราที่มิชอบด้วยกฎหมายตามนโยบายรัฐบาล
                  กรมสรรพสามิตสนองนโยบายรัฐบาลในการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต สั่งคุมเข้มตรวจสอบโรงงานสุรากลั่นชุมชนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ผ่านมาสั่งปิดกิจการกว่า 200 ราย และทำลายสุราและยาสูบของกลางผิดกฎหมาย 
               นายสมชาย  พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มอบนโยบาย  ให้กรมสรรพสามิตดูแลสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงการดำเนินงานตามมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามสุราเถื่อน บุหรี่เถื่อน และน้ำมันเถื่อน และจูงใจผู้ที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาสู่ระบบภาษี ซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้จัดทำแผนเฉพาะกิจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตโดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่  ชุดเฉพาะกิจจากสำนักตรวจสอบ ป้องกันและปราบปราม และเจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศ  พร้อมสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตตามพื้นที่เป้าหมายที่คาดว่าอาจมีการกระทำผิด เพื่อสร้างความเป็นธรรม โปร่งใส และความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต และเพื่อเป็นมาตรการเสริมทางอ้อมในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคให้บริโภคสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากการบริโภคสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษีจะเป็นอันตรายและส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าสินค้าโดยทั่วไป 
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวต่อว่า สำหรับการปราบปรามผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชนที่มิชอบด้วยกฎหมาย กรมสรรพสามิตได้สั่งการให้สำนักงานสรรพสามิตภาคและสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ปฏิบัติงานตรวจสอบควบคุมโรงงานสุรากลั่นชุมชนให้ถูกต้องตามกฎหมายและตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ที่มีข้อสั่งการเกี่ยวกับการตรวจสอบควบคุมโรงงานสุรากลั่นชุมชน โดยบูรณาการเร่งรัดการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการผลิตสุรากลั่นชุมชนให้เป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยสั่งการให้สำนักงานสรรพสามิตภาคและสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ตรวจจุดเสี่ยง  ตามพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นโรงงานผลิตสุรากลั่นชุมชนที่ได้รับใบอนุญาตกว่า 2,600 รายทั่วประเทศ ทั้งนี้ จากผลการตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตให้ทำและขายสุรากลั่นชุมชนในช่วงเดือนตุลาคม 2558 – มิถุนายน 2559 พบว่า มีผู้กระทำผิดกฎหมายและถูกเพิกถอนใบอนุญาตขายสุรา จำนวนทั้งสิ้น 210 ราย และพบโรงงานที่ไม่ถูกต้อง ตามระเบียบที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องถูกเพิกถอนอีก 400-500 โรง เนื่องจากยังมีผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาตและดำเนินการอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ มีสารปนเปื้อนที่ผู้ผลิตจงใจผสมหรือเติมลงไปในกระบวนการผลิตโดยหวังแต่ผลประโยชน์  และมิได้ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตได้ เช่น สารตะกั่ว สารหนู สารฟูเซลออยล์ สารเมทิลแอลกอฮอล์ และตรวจพบสารไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ มีผสมอยู่ในแอลกอฮอล์แปลงสภาพ สารนี้บริโภคไม่ได้ นิยมใช้เป็นสารฆ่าเชื้อทางการแพทย์  ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น หากรับประทานเข้าไปจะเกิดอาการเมา คลื่นไส้ อาเจียน ฤทธิ์กดสมองทำให้การรู้สติน้อยลง ทำลายระบบประสาท ปอด ไต ระบบหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และระบบทางเดินอาหาร หากได้รับในปริมาณมากจะทำให้โคม่า ความดันโลหิตตก และหยุดหายใจได้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสียและสุขภาพอื่นๆ อีกด้วย 
สำหรับของกลางที่นำมาทำลายเป็นของกลางที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 และพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 ที่เสร็จสิ้นคดีแล้ว ซึ่งปกติที่ผ่านมาของกลางยาสูบจะทำลายโดยวิธีการเผาไฟ และของกลางสุราทำลายโดยเททิ้ง แต่การทำลายดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมชุมชน แต่อาจมีผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการนำของกลางดังกล่าวมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพสำหรับปราบศัตรูพืช ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับสังคมชุมชน โดยที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้ส่งเสริมและสนับสนุน  สุราและยาสูบของกลางที่เสร็จสิ้นคดีแล้วให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถานศึกษาต่างๆ เพื่อการผลิตและการนำน้ำหมักชีวภาพไปใช้เป็นยาปราบศัตรูพืชในการทำเกษตรกรรมของครอบครัวและชุมชน และในวันนี้ได้มีผู้แทนคณะอาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนสรรพสามิตบำรุงซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบ เป็นผู้รับมอบของกลางเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทำน้ำหมักชีวภาพจากของกลางสุราและยาสูบที่เสร็จคดีร่วมกับโรงเรียน ในเครือข่ายสังกัดเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาต่อไป
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวทิ้งท้ายว่า ผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต  ทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 2559 (เดือนตุลาคม 2558 – กรกฎาคม 2559) พบว่ามีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. สุรา จำนวน 23,171 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 71,022,001.32 บาท โดยมีของกลางแยกเป็น สุรากลั่นและสุราแช่ จำนวนรวม 177,191.54 ลิตร คิดเป็นมูลค่าของกลาง 25,515,581.76 บาท เชื้อสุรา จำนวน 685.30 กิโลกรัม สุราต่างประเทศ จำนวน 30,698.58 ลิตร และ เครื่องกลั่น จำนวน 48 ชุด
สำหรับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. ยาสูบ จำนวน 11,512 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 213,557,421.60 บาท โดยมีของกลางแยกเป็น ยาสูบต่างปะเทศ จำนวน 528,787 ซอง กรองทิพย์ 90 จำนวน 14,408 ซอง สายฝนและอื่น ๆ จำนวน 19,194 ซอง และยาเส้น/บารากู่ จำนวน 3,384.49 กิโลกรัม 
พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต 2527 จำนวน 1,696 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 84,644,965.92 บาท  โดยมีของกลางแยกเป็น โซลเว้นท์ จำนวน 32,355 ลิตร ดีเซล จำนวน 1,103,561 ลิตร เบนซิน จำนวน 344,376 ลิตร น้ำมันเตา จำนวน 126,000 ลิตร เครื่องดื่ม จำนวน 404,461.02 ลิตร รถยนต์ จำนวน      34 คัน น้ำหอม 22,296 ขวด รถจักรยานยนต์ จำนวน 90 คัน และแบตเตอรี่ จำนวน 109,581 ก้อน และ พ.ร.บ. ไพ่ จำนวน 72 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 5,094,927 บาท โดยมีของกลางแยกเป็น ไพ่ป๊อก จำนวน 12,291 สำรับ และไพ่อื่นๆ จำนวน 192 สำรับ รวมจำนวนคดีทั้งสิ้น 36,451 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับจำนวนทั้งสิ้น 374,319,315.84 บาท 

หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตสามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ Call center 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.excise.go.th หรือแจ้งที่ตู้ ป.ณ. 10 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 ซึ่งกรมสรรพสามิตจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ และจะมอบสินบนนำจับให้ ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว” 





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น