pearleus

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หยุด! ใช้ยาในทางที่ผิด ในเด็กและเยาวชน

           
ป.ป.ส. จับมือ อย./สมาคมร้านขายยา/สพฐ./สตช. คุมเข้ม หยุด! ใช้ยาในทางที่ผิด ในเด็กและเยาวชนเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 เวลา 10.00 น. นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นประธานแถลงมาตรการเข้ม หยุดใช้ยาในทางที่ผิด ร่วมกับ นายประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  นางพวงมณี ชัยเสรี ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา  ขั้นพื้นฐาน ดร.ปิ่นทอง ใจสุทธิ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม และนายปริญญา อัครจันทโชติ    นายกสมาคมร้านขายยา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 120 คน ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง)
                จากกรณีที่มีการแชร์คลิปสั้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในเหตุอุทาหรณ์ที่นักเรียนกินยาแก้ปวดยี่ห้อโปรโคดิลผสมยาแก้ปวดยี่ห้อทรามาดอล 40 เม็ด ทำให้เกิดอาการชักเกร็ง ก่อนตกตลิ่งใต้สะพานภูมิพล เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ขณะที่เพื่อนและเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ช่วยกันนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าขณะนี้ยาแก้ปวดยี่ห้อดังกล่าวเมื่อนำมาผสมกับส่วนผสมหลายอย่างจะทำให้เกิดความมึนเมา ซึ่งในปัจจุบันกำลังเป็นที่แพร่ระบาด      ในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมอย่างมาก โดยก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องจนพบพฤติกรรมการใช้ยารักษาอาการป่วยทั่วไป มาดัดแปลงเป็นสารกระตุ้นประสาท โดยนำยาในกลุ่มยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด และยาแก้ไอ มาผสมกับเครื่องดื่มเพื่อให้ออกฤทธิ์มึนเมา และกระตุ้นให้รู้สึกสนุกสนาน ซึ่งในปี 2552 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศเตือนห้ามใช้ยาชนิดนี้เมื่อไม่จำเป็น หลังจากที่พบเด็กวัยรุ่นใน 3 จังหวัดภาคใต้ นำยาแก้ปวดยี่ห้อดังกล่าวใช้เป็นส่วนผสมของยาเสพติด โดยผสมกับยาแก้ไอและเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง   จนกลายเป็นสารเสพติด ประเภทสี่คูณร้อย ต่อมาในปี 2554 จังหวัดสตูลประกาศห้ามนำยาชนิดนี้มาจำหน่าย       หลังพบว่ามีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนมาก นำไปผสมเป็นยาเสพติดร้ายแรง และในปีเดียวกันสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประกาศเตือนและเฝ้าระวังหลังได้รับรายงานว่าในพื้นที่ภาคเหนือมีกลุ่มวัยรุ่นใช้ยาชนิดนี้ในปริมาณมากโดยกินร่วมกับน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนมีอาการมึนเมาเหมือนคนสูบฝิ่น  

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มิได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของการใช้ยาในทางที่ผิด โดยได้มีการติดตาม เฝ้าระวังและแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมทั้งสืบสวนหาข้อมูลพื้นที่/ แหล่งแพร่ระบาดร้านขายยาที่ขายยาดังกล่าวโดยผิดกฎหมาย แต่อาจไม่เป็นที่ทราบของสื่อมวลชนและประชาชนโดยทั่วไป จึงเป็นที่มาของการจัดแถลงมาตรการ หยุดใช้ยาในทางที่ผิดครั้งนี้ ซึ่งเป็นการระดมหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคธุรกิจเอกชน  โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนสมาคมร้านขายยา ร่วมหามาตรการคุมเข้มปัญหาดังกล่าวเพื่อป้องกันการใช้ยาในทางที่ผิด ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือกันในการป้องกันและเฝ้าระวังพฤติกรรมการใช้ยาในทางที่ผิดของเด็กและเยาวชนต่อไป  โดยจะดำเนินการคุมเข้มในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การป้องปราม และสืบสวนข้อมูลเชิงลึกและสุ่มตรวจสอบร้านขายยาในพื้นที่เสี่ยงที่มีการลักลอบจำหน่ายยาให้เด็กและเยาวชนนำไปใช้ในทางที่ผิด พร้อมร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ หยุดใช้ยาในทางที่ผิดและจะร่วมกันรณรงค์ให้แพร่หลายต่อไป
                โดยมาตรการที่สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ และเอกชนเพื่อแสวงหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังนี้ มาตรการควบคุม จะยกระดับตัวยารักษาโรคที่มีเด็กและเยาวชนนำไปใช้ในทางที่ผิด ขึ้นเป็นตัวยาที่ต้องมีการควบคุม โดยอนุญาตให้จำหน่ายเฉพาะใน ร้านขายยาคุณภาพซึ่งต้องเป็นร้านขายยาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น มาตรการเฝ้าระวังและป้องปราม สำนักงาน ปปส.ภาค 1-9/สำนักงาน ปปส.กทม. ร่วมกับคณะทำงานเฝ้าระวังจังหวัดทุกจังหวัด/ฝ่ายปกครองทุกพื้นที่ ดำเนินการด้านการข่าว วิเคราะห์ข่าวสารข้อมูลเพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายเฝ้าระวังพิเศษ โดยจะเน้นพื้นที่ที่เป็นปัญหาและมีการแพร่ระบาดอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และฝ่ายปกครองทุกพื้นที่จะใช้มาตรการจัดระเบียบสังคม เพื่อดำเนินการตรวจตราทั้งร้านขายยาที่เฝ้าระวังพิเศษ และร้านขายยาทั่วไป มาตรการปราบปราม จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยเข้มงวดกับร้านขายยาที่พบว่ามีการลักลอบจำหน่ายยาให้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด มาตรการป้องกัน ระดมความร่วมมือจากองค์กรเครือข่ายร้านขายยา ได้แก่ สมาคมร้านขายยา ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) เพื่อรณรงค์มิให้ร้านขายยาจำหน่ายยาให้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมทั้งให้ความรู้และสร้างความตระหนักเพื่อป้องกันการใช้ยาในทางที่ผิดในสถานศึกษาทั้งในสังกัดภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ผ่านกลไกครูแกนนำ นักเรียนแกนนำ และเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา
                ภก. ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษก อย. ให้ข้อมูลว่า       “ที่ผ่านมายาทั้ง 2 ชนิด ยังคงต้องให้มีบริการในร้านขายยาแผนปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน      ส่วนใหญ่ในการรักษาโรคขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม อย. มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านขายยาอย่างต่อเนื่อง       หากพบว่ามีการซื้อขายยาในทางที่ผิด นอกจากจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วก็จะถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 120 วันด้วย และตั้งแต่ปี 2558 - ปัจจุบัน มีร้านขายยาที่กระทำผิดกฎหมายถูกพักใช้ใบอนุญาตไปแล้วกว่า 40 ร้าน หากผู้ใดต้องการแจ้งเบาะแสร้านขายยาที่มีพฤติกรรมขายยาในทางที่ผิดสามารถแจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556”
                นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเสพติดในภาพรวมของประเทศ ตลอดจนป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ใช้    ยาในทางที่ผิด ซึ่งอาจจะนำไปสู่การใช้ยาเสพติดในที่สุด ได้ดำเนินการเน้นย้ำและให้ความรู้ในการสร้างภูมิคุ้มกัน      ยาเสพติดมาโดยตลอด รวมทั้งเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องให้ความรู้ ถึงโทษและพิษภัย ซึ่งในวันนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีการมอบสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อหยุดการใช้ยาในทางที่ผิดให้กับผู้แทนหน่วยงานทุกท่าน โดยมุ่งหวังว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมควรร่วมมือกันในการป้องกันแก้ไขปัญหา อย่างต่อเนื่องต่อไป
****************************
แจ้งเบาะแสยาเสพติด โทร 1386///วุฒิชี้ชัด







0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น