pearleus

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

“โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู” หนึ่งมหัตภัยร้าย !! ที่มากับน้ำท่วม น้ำขัง

โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู หนึ่งมหัตภัยร้าย !! ที่มากับน้ำท่วม น้ำขัง

              ดร.นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล ผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดราชบุรี  เปิดเผยว่า โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีหนูที่เป็นพาหะ หรือตัวการหลักในการแพร่เชื้อแล้ว ยังพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข สุกร โค กระบือ แมว แพะ แกะ ก็แพร่เชื้อได้เช่นกัน เชื้อโรคนี้จะออกมาพร้อมกับฉี่ของสัตว์ดังกล่าว แต่พบได้น้อยกว่าหนู โดยเชื้อโรคฉี่หนู สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานานจนอ่อนนุ่ม และติดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปก็ได้ ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ ในผู้ที่มีอาการมักแสดงหลังจากได้รับเชื้อ 2-3 วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์
             ดร.นพ.อนุพงค์  กล่าวต่อว่า อาการที่สำคัญ คือ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร เป็นต้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หรืออาการทางสมองและระบบประสาท อาจถึงตายได้ ทั้งนี้ อัตราการตายอาจสูงถึงร้อยละ 10-40 หากมีอาการดังที่กล่าวมาขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคฉี่หนู และให้รีบไปพบแพทย์ เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาดได้ อย่าซื้อยารับประทานเอง จากการติดตามประวัติในกลุ่มที่เสียชีวิต พบว่าส่วนใหญ่มักจะซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาที่มีฤทธิ์แก้ปวดและลดไข้ เพราะเข้าใจว่าเป็นไข้ทั่วไปที่เกิดมาจากการทำงานหนัก จึงทำให้อาการรุนแรงขึ้น เชื้อโรคเข้าไปทำลายอวัยวะอื่น เช่น ไต ทำให้ไตวาย และเสียชีวิตได้
             ดร.นพ.อนุพงค์  กล่าวอีกว่า ในส่วนของการป้องกันโรคไข้ฉี่หนูในช่วงหน้าฝน ซึ่งบางพื้นที่อาจมีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม มีคำแนะนำ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ที่มีปัญหามึนชาที่เท้า ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง 2. ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ชาวสวน ชาวนา คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ ขอให้สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู๊ท เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายหลังจากเสร็จภารกิจทำงาน 4. กำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู และ 5. ดื่มน้ำต้มสุกและรับประทานอาหารที่ปรุงสุก
 ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน และเชื้อโรคฉี่หนูจะปนเปื้อนอยู่ในน้ำและดินโคลนชื้นแฉะ เชื้อจะเข้าทางแผลรอยผิวหนังถลอก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ กลุ่มเสี่ยงคือ ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ คนงานโรงฆ่าสัตว์ กรรมกรขุดลอกคูคลอง สัตวแพทย์ เป็นต้น ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินลุยน้ำ ว่ายน้ำ ก็มีโอกาสสัมผัสโรคได้ สำหรับการป้องกันโรค เน้นมาตรการ 4 ลด ได้แก่ 1.ลดหนู 2.ลดการสัมผัส 3.ลดการเสียชีวิต 4.ลดการระบาด โดยให้ผู้นำชุมชน อสม.สังเกตและรายงานผู้ป่วยที่สงสัยแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประจำพื้นที่เพื่อรีบดำเนินการและควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาด ที่สำคัญปลายปี 2558 นี้ ประเทศไทยจะมีการเปิดเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการเคลื่อนย้ายประชากรและสินค้าเพิ่มขึ้น อาจมีหนูเป็นพาหะนำโรคได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนเองก็ต้องช่วยกันวางแผนและเตรียมพร้อมในการป้องกันโรคฉี่หนูอย่างมีประสิทธิภาพ ดร.นพ.อนุพงค์  กล่าว  ที่มา: http://www.thaihealth.or.th/

รายงานข่าวโดย วิจิตรา ฤทธิ์ประภา กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
      สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค  
                                                                                                                          22  กรกฎาคม   2558

           


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น