pearleus

วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2559

พัฒนาการศึกษาท้องถิ่น

มหาดไทยกำหนดแนวทางการพัฒนาการศึกษาของท้องถิ่นยึดยุทธศาสตร์ชาติและค่านิยมหลักของคนไทย เน้นปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี มีคุณธรรมมีภูมิคุ้มกัน พร้อมเติบโตเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
                เมื่อ  3  เม.ย. 59 ที่กระทรวงมหาดไทย นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่เป้าหมายความมั่นคง มั่งคั่ง      และยั่งยืน โดยมีแนวทางพัฒนาในหลายๆ ด้าน และที่สำคัญด้านหนึ่ง คือ การพัฒนาคุณภาพคนและการศึกษา เพื่อพัฒนาให้คนไทยมีศักยภาพ ยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่จะต้องบ่มเพาะหล่อหลอมให้เป็นคนดีมีคุณธรรม
เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะหน่วยงาน   ที่มีหน้าที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับ ตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และ   ที่แก้ไขเพิ่มเติมทั้งการจัดการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน (เด็ก เยาวชน และประชาชน) สู่ความเป็นเลิศตามอัจฉริยภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถนำความเป็นเลิศนั้นไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ และดำรงตนอยู่ในสังคม ชุมชนอย่างมีความสุข ปัจจุบันมีสถานศึกษาในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน21,328 แห่ง จำแนกเป็น โรงเรียน จำนวน 1,515 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 19,813 แห่ง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จึงได้กำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งได้นำไปปฏิบัติ เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้อง และเป็นไปตามยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1. การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาให้มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการศึกษาของท้องถิ่นสอดคล้องและสนับสนุนต่อนโยบายและทิศทางการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดด้วย 2. เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและเกิดธรรมาภิบาลในการจัดการศึกษา  ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุด จึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่งตั้ง คณะกรรมการการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ คณะกรรมการสถานศึกษาโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ทำหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษาในสังกัดตามแนวทางที่กำหนด 3. ในการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาให้นำปัญหา หรือ ความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ยุทธศาสตร์และนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน การพัฒนาศักยภาพตามช่วงวัย และค่านิยมหลักของคนไทย ที่จะสร้างให้คนไทยมีความเข้มแข็ง มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม รู้จักดำรงตนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีภูมิคุ้มกันที่ดี มาเป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ทั้งนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษาในสังกัดได้ใช้แผนพัฒนาการศึกษาดังกล่าว เป็นกรอบแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติ   อย่างเป็นรูปธรรม 

รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การจัดการศึกษาของท้องถิ่นมีคุณภาพและมีมาตรฐานการศึกษา สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและการพัฒนาคน เพื่อส่งเสริมรากฐานและพัฒนาให้เด็กและเยาวชนได้รับการดูแลกล่อมเกลาตั้งแต่แรกเกิด วัยเด็ก วัยเรียน มีพัฒนาการที่สมวัยในทุกด้าน มีความพร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งพร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเป็นคนดีของประเทศชาติต่อไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น