เมื่อ 6 เม.ย. 59 พลเอก
อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า
การสร้างความปลอดภัยทางถนนถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการป้องกันและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน
ตลอดจนเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เป็นรากฐานของสังคมไทย
เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศ
โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน
และเป็นช่วงที่มีประชาชนจำนวนมากใช้รถใช้ถนนในการเดินทางกลับภูมิลำเนา
และท่องเที่ยวเล่นน้ำสงกรานต์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จึงได้กำหนดแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์
พ.ศ.2559 เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการดำเนินงาน
พร้อมทั้งจัดให้มีการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี
2559 ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2559
ภายใต้ชื่อ “สงกรานต์ปลอดภัย
ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สร้างวินัยจราจร” เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการสร้างความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลดังกล่าว
โดย ศปถ.ได้กำหนดช่วงเวลาดำเนินการเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงการรณรงค์และเสริมสร้างวินัย ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์
-17เมษายน 2559 และดำเนินการต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือ อุปกรณ์
และเร่งสำรวจแก้ไขจุดเสี่ยงจุดอันตราย อาทิ จุดตัดทางรถไฟ ทางลักผ่าน ทางโค้ง
ทางร่วม และทางแยก รวมทั้งให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อป้องปรามการกระทำผิดและเสริมสร้างวินัยจราจร
ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจและป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
เกิดการขับขี่ที่ปลอดภัย และ 2.ช่วงควบคุมเข้มข้น
ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2559 โดยกำชับทุกหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการฯ
ที่กำหนดไว้อย่างเข้มข้นภายใต้กลไกการทำงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
(ส่วนกลาง) และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่
โดยมีเป้าหมายส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์
และลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บให้เหลือน้อยที่สุด
โดยให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้วยตนเอง
สำหรับมาตรการและแนวทางที่ใช้ในการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในครั้งนี้
ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.มาตรการด้านการบริหารจัดการ
โดยมีการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน โดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area
Approach) และใช้แนวทาง “ประชารัฐ” เป็นกลไกในการควบคุมปัจจัยเสี่ยง และเฝ้าระวัง กำกับ ป้องปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่
โดยให้ชุมชนและประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
รวมทั้งมีการกำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (Zoning)
2.มาตรการด้านถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย มีการปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงบนถนนและสภาพแวดล้อมริมทางให้ปลอดภัย
และวางแผนอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน 3.มาตรการด้านยานพาหนะที่ปลอดภัย
มีการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะทุกประเภท โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ
และรถโดยสารไม่ประจำทาง เพื่อให้เกิดการขับขี่ที่ปลอดภัย 4.มาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มงวด
จริงจังและต่อเนื่อง และรณรงค์ปลูกฝังสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และ 5.มาตรการด้านการตอบสนองหลังเกิดเหตุ มีการจัดเตรียมความพร้อมทีมกู้ชีพกู้ภัยสำหรับให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ
จุดเกิดเหตุ อย่างรวดเร็ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการสร้างความปลอดภัยทางถนน
โดยกำหนดเป็นนโยบายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
เนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นปัญหาที่สร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนและประเทศเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง อย่างเช่นเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก
กระทรวงมหาดไทยจึงได้กำชับให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลอย่างเต็มที่
โดยเฉพาะสถานที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ได้เน้นย้ำให้ดูแลเป็นพิเศษ
โดยให้ตั้งด่านตรวจและจุดบริการตามเส้นทางต่างๆ รวมทั้งประสานชุมชนให้ช่วยกันใช้มาตรการทางสังคมในรูปแบบ
“การตั้งด่าน 1 ชุมชน 1 หมู่บ้าน 1 ด่านตรวจ” เพื่อเพิ่มความระมัดระวังและดูแลความปลอดภัยในระดับพื้นที่
โดยกระทรวงมหาดไทยและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่
มีการประสานการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งด้านการสนับสนุนการทำงานตามมาตรการและแนวทางที่กำหนด
ตลอดจนมีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนร่วมกัน
ทั้งนี้ สำหรับการเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนให้มีส่วนร่วมในการประหยัดการใช้น้ำ
โดยร่วมกันรณรงค์เล่นน้ำสงกรานต์ในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์แบบไทย ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” ด้วยการเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างประหยัดด้วยวิธีประพรมแทนการสาดน้ำใส่กัน
และถือปฏิบัติตามประเพณีอันดีงามที่ควรอนุรักษ์เชิงสร้างสรรค์เพื่อร่วมสืบสานประเพณีไทยให้คงอยู่ตลอดไป
และขอให้พี่น้องประชาชนได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย และมีความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้
โดย ศปถ.ได้กำหนดช่วงเวลาดำเนิ
สำหรับมาตรการและแนวทางที่ใช้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการสร้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น