pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

รมว.มท. เผยผลสำเร็จโครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท แล้วเสร็จ 8 หมื่นโครงการ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท พร้อมขยายเวลาสำหรับโครงการในพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้


          เมื่อ ก.พ. 60 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้ดำเนินโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (โครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท) เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับหมู่บ้านและชุมชน ผ่านโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้าน หรือการดำเนินกิจการสาธารณประโยชน์ ของหมู่บ้านที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การผลิตและการตลาด เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ตามความต้องการของประชาชน และเป็นไปตามแนวทางประชารัฐ โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่หมู่บ้าน โดยรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่หมู่บ้านจำนวน 74,655 หมู่บ้าน ภายในวงเงินหมู่บ้านละ 250,000 บาท ดำเนินการภายในระยะเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ พฤศจิกายน 2559 - 31มกราคม 2560            
          ซึ่งขณะนี้การดำเนินโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วตามระยะเวลาที่กำหนด กระทรวงมหาดไทยจึงขอเรียน ให้ทราบถึงผลการดำเนินงานในภาพรวม โดยมีโครงการทั้งหมดจำนวน82,336 โครงการ งบประมาณที่ได้รับอนุมัติ 18,660,723,208 บาท มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จและมีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว จำนวน 80,328 โครงการ เป็นเงิน 18,186,413,187บาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 98 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค. 2560) มีจังหวัดที่มีผลการเบิกจ่ายแล้ว 100% จำนวน 68 จังหวัด ทั้งนี้ สำหรับโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ทันตามห้วงเวลา ที่กำหนดเนื่องจากได้เกิดเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้มีหมู่บ้านที่ดำเนินโครงการต้องประสบภัยธรรมชาติหรือมีเหตุสุดวิสัยซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ขอขยายระยะเวลาดำเนินการออกไปอีก จำนวน 2,620 โครงการ งบประมาณ650,148,600 บาท
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 หรือโครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท 
ได้ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากทำให้เกิดการสร้างงานกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และยังเป็นโครงการที่ได้สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ สามารถนำงบประมาณที่ได้รับไปแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ได้ตรงตามความต้องการของประชาชนมากที่สุดโครงการหนึ่ง และเป็นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนในระดับหมู่บ้านให้เข้ามามีส่วนร่วม ช่วยกันคิด ช่วยกันนำเสนอปัญหา และวิธีแก้ไขปัญหา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยคาดหวังให้ประชาชนมีความเข้มแข็งจากภายในอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น