pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

14 NGO เดินหน้าหารือภาคธุรกิจ แก้ปัญหาแรงงาน-ทำประมงยั่งยืน

ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลยั่งยืนและเป็นธรรม ร่วมแถลง “บทบาทภาคธุรกิจและประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมประมงไทย” โดยสะท้อนเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบจากทั้งในภาคแรงงานและทรัพยากรทะเล 
 (จากซ้าย) นายบรรจง, นายสะมะแอ ,น.ส.สุธาสินี , นายวิโชคศักดิ์ ,สมพงษ์ และนายสามารถ

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค.60 ตัวแทนภาคีเครือข่ายฯ ภาคประชาสังคม อาทิ นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย นายสมพงษ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) นางสาวสุธาสินี   แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานองค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) นายสะมะแอ  เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย  นายสามารถ เสนาสุ อดีตแรงงานบนเรือประมง และนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผจ.สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ร่วมแถลง ณ ห้องไลบรารี่ ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ

โดยระบุว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความไม่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมประมงของไทยยังตกเป็นประเด็นร้อนที่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้  ความไม่ยั่งยืนในสายพานการผลิตส่งผลกระทบโดยตรงทั้งต่อชีวิตลูกเรือแรงงานและความหายนะทางสิ่งแวดล้อม ปรากฎการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วต้องปรับตัวจากการที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกต่ำ นอกจากนี้ในปี 2554 สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทยได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการโดยจัดให้ไทยตกอยู่ในบัญชีประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unregulated and Unreported Fishing : IUU Fishing) ซึ่งจนถึงขณะนี้ไทยยังไม่สามารถปลดสถานะใบเหลืองนี้ได้ ในขณะเดียวกัน ไทยยังคงอยู่เทียร์ 3 ที่ต้องจับตา ด้านการค้ามนุษย์จากการจัดลำดับของสหรัฐอเมริกา
นายวิโชคศักดิ์  กล่าวว่า  ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลยั่งยืนและเป็นธรรม” หรือ “The Thai Civil Society’s Coalition for Sustainable and Ethical Seafood” คือเวทีแรกที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และองค์กรภาคประชาสังคมไทยด้านแรงงาน และด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานใกล้ชิด มีความเชี่ยวชาญกับสภาพปัญหา รวม 14 องค์กร ได้จับมือร่วมทำงานกันในรูปแบบเครือข่ายโดยทางเครือข่ายมีภารกิจในการชี้วิเคราะห์สาเหตุ นำเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ สร้างความตระหนัก รณรงค์และส่งเสริม เพื่อยุติการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนและ ไม่เป็นธรรมตลอดกระบวนการผลิต (จากทะเลสู่จานผู้บริโภค) ภาคีเครือข่ายฯต้องการสนับสนุนภาครัฐและเอกชนให้เปลี่ยนแปลงการดำเนินงานด้านนโยบายและการปฎิบัติ เพื่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานและระบบนิเวศน์ทางทะเล รวมทั้งนำเสนอทางออกอย่างมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ทางภาคีเครือข่ายฯ ได้เห็นถึงความพยายามของภาครัฐและเอกชนขนาดใหญ่ในการพยายามแก้วิกฤติดังกล่าว แม้จะน่ายินดีแต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และเมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที แรงงานในอุตสาหกรรมประมงและครอบครัวชาวประมงพื้นบ้าน กลับตกเป็นกลุ่มคนแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด  
“ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน เช่นซุปเปอร์มาร์เก็ตฐานะที่เป็นปลายทางห่วงโซ่การผลิต ธุรกิจเองอาจไม่ได้รับรู้มาก่อนว่าสินค้าที่นำมาขายผู้บริโภคมาจากแรงงานทาส แต่เมื่อรู้แล้วต้องร่วมแก้ไข รวมถึง มีบทบาทในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และนโยบายของเอกชนรายอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกันด้วย” นายวิโชคศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามการประชุม “Seafood Task Force”ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจชั้นนำของโลก ทั้ง “ผู้ซื้อ” ในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา และ “ผู้ส่งออก” รายใหญ่ของไทย ที่กำลังมีการจัดประชุมกันระหว่างวันที่ 30 ม.ค.-2 ก.พ.60 ในประเทศไทย ทางภาคีเครือข่ายฯ จึงตัดสินใจเข้าเข้าหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล และเสนอแนวทางการแก้ปัญหาและความร่วมมือ ถือเป็นการพบกันครั้งแรกของโลก ที่กลุ่มองค์กรซึ่งมีความสำคัญยิ่งในการแก้ปัญหาสองฝั่ง คือภาคประชาสังคมและภาคเอกชนระดับโลกได้พบปะหารือกัน
นายสะมะแอ  กล่าวว่า  เพื่อจัดการระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างเร่งด่วน ทางภาคีได้มีข้อเสนอเร่งด่วน 2 ประการต่อภาคเอกชน คือ 1) ยุติการใช้เครื่องมือและวิธีการทำประมงทำลายล้าง โดยต้องไม่จับ ไม่ใช้ และไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)  การใช้อวนลาก และวิธีปั่นไฟล่อจับปลาแม้กฎหมายไทยไม่ได้ห้ามไว้ รวมถึงต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทำให้ทราบแหล่งที่มาและวิธีการจับสัตว์น้ำที่ทำการประมงได้ และบังคับใช้ระบบนี้กับซัพพลายเออร์  นอกจากนี้ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการจัดซื้อจัดหาสินค้าหรือวัตถุดิบสัตว์น้ำในธุรกิจของตนให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย”
นอกจากนี้ต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องนายบรรจง  ชี้ว่า ต้องยุติการซื้อหรือใช้ปลาป่นที่ได้มาจากการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืน/ทำลายล้าง เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ภาคเอกชนต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของปลาป่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส เปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอกตรวจสอบได้  และขอให้เปิดเผยข้อมูลสัดส่วนวัตถุดิบโปรตีนในปลาป่นที่มาจากปลาเป็ดที่ใช้อยู่ว่ามากน้อยเพียงใด  รวมถึงลงทุนในการศึกษาวิจัย พัฒนาทางเลือกวัตถุดิบโปรตีนทดแทนในอาหารสัตว์เพื่อลดความต้องการปลาป่นจากการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืน 

ส่วนด้านสังคมและแรงงานนั้น นางสาวสุธาสินี  กล่าวว่า เอกชนต้องยุติการใช้แรงงานบังคับในภาคการประมงอย่างเร่งด่วน โดยผลักดันมาตรการและแนวปฏิบัติของผู้ประกอบกิจการเรือประมงในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานประมงและที่สำคัญ  ต้องส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวและการได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและการทำงานที่มีคุณค่าของแรงงานประมง โดยการบริหารจัดการแรงงานประมงในประเทศไทย ต้องเป็นไปตามหลักสิทธิในการทำงาน สิทธิในการรวมตัวและเสรีภาพในการต่อเจรจาต่อรองของคนงานประมง ตลอดจนการส่งเสริมให้คนงานประมงได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมและการทำงานที่มีคุณค่า คนงานต้องมีสิทธิและเสรีภาพ เยี่ยงมนุษย์ทั่วๆไป ไม่ใช่เมื่อทำงานบนเรือไปแล้ว ขาดการติดต่อจากครอบครัว นี่คือสภาพที่เราเห็น  ดังนั้นอยากพูดถึงสิทธิการรวมตัวเป็นยุคสมัยใหม่ ยุคการเจราจาต่อรอง ต้องเปิดโอกาสให้คนงานมีสิทธิในการรวมตัว  อย่างน้อยๆ สินค้าต้องไม่ละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิการรวมตัว เพราะสิทธิการรวมตัวนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานระดับสากลด้วยซ้ำ และเป็นภาพลักษณ์ที่ดี ลดความสับสนวุ่นวายเพราะมีตัวแทน นอกจากนี้ทางห้างสรรพสินค้า ผู้ซื้อ ผู้ขาย ควรตรวจสอบ ก่อนซื้อหรือก่อนนำไปขายให้กับผู้บริโภค อย่างที่หลายคนพูดถึงว่า จะกินด้วยหยาดเหงื่ออย่างเดียวคงไม่ใช่ บางทีกินบนนิ้วที่ขาดหาย กว่าจะได้ปลาได้กุ้ง ซึ่งได้รับอุบัติเหตุ ต้องถ้าแรงงานส่งเสียงไปว่า กำลังถูกละเมิดสิทธิ หรือถูกเอาเปรียบ ควรสนับสุนนคนงาน ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้กิน ผู้หาให้กิน อยากให้มีความสุขร่วมกันจึงจะถือว่าเป็นงานที่มีคุณค่า 
นายสามารถ  เล่าว่า ช่วงฟองสบู่แตกของไทย ตนทำงานเป็นรปภ.บริษัทแห่งหนึ่งแต่ต้องออกจากงาน และกำลังเตรียมกลับไปอยู่บ้าน มีนายหน้ามาชวนให้ไปทำงาน มีการพูดคุยกัน จนเขาให้ดื่มน้ำ เมื่อตื่นขึ้นมากลายเป็นอยู่ในเรือที่สิงคโปร์แล้ว ขอกลับเขาบอกให้ว่ายน้ำกลับไปเอง  เขาบอกว่า ต้องทำงานสามปีจึงจะให้กลับบ้าน ก็รอไปเรื่อยๆ แต่ผ่านไป 7 ปีกว่าจึงได้กลับบ้าน ปี 2558 การทำงานแต่ละวัน 4-5 รอบ อวนปลาขึ้นมาทีละ 2 -3 ตัน เฉลี่ยตันละ 1000 โล การทำงานกู้อวน เมื่อปล่อยปลาออกเสร็จก็ปล่อยอวนต่อ ช่วงที่ทำงานการพักผ่อนน้อยมาก "ปัจจุบันผมเสียนิ้วก้อยไปเพราะหน้ามืด ปล่อยอวนไปแล้วมือไปเกาะอวน ถ้าอยู่ฝั่งเขาจะพาไปโรงพยาบาล แต่บนเรือไม่มี บางคนนิ้วขาด บางคนขาขาด ยาที่แก้รักษาโรคมีพารา ยาแก้อักเสบ หมอไม่มี ส่วนใหญ่เป็นหมอจำเป็นเช่นว่า ใครเคยเป็นทหาร ก็จะฉีดยากันเอง ปัจจุบันเพื่อนกัมพูชาเป็นคนพิการไปแล้ว
ผมอยากให้เห็นใจแรงงานรากหญ้า อย่างคนทั่วไปทำงานบนฝั่ง 8-12 ชั่วโมง มีโอที พวกผม 15 ชั่วโมง เบิกจ่ายแต่ละครั้ง 2-3 รูเปีย เท่ากับ 4,000 บาท อยากเรียกร้องด้าน สวัสดิการของชาวประมง การรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยให้ทันท่วงที บางคนรักษาไม่ไหว ตายต่อหน้าต่อตา บางคนถูกน้ำร้อนสาด หางกระเบนฟาด ผมโดนเตะ ปัจจุบันตั้งกลุ่มทีเอ็มเอฟจี สหภาพลูกเรือประมง มีสมาชิกรวมกัน 7-80 คน มีทั้งไทย ลาว พม่า กัมพูชา ผมมาเป็นตัวแทนของลูกเรือที่ประสบปัญหา อยากเรียกร้องให้มีการกำหนดการทำงานให้มีชั่วโมงที่เท่าเทียมกับบนฝั่ง มีโอทีเพื่อเขาจะได้ไม่ต้องเสียชีวิตเหมือนอย่างไร้ราคาอีก" 
นายสมพงษ์ กล่าวว่า ภาคเอกชนควรกำหนดอัตราค่าจ้างค่าตอบแทนและสวัสดิการให้สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยของแรงงานประมง อีกทั้งให้มีการชดเชยเป็นค่าตอบแทนในส่วนที่นอกเหนือจากจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ตกลงกันไว้ โดยกำหนดการลงอวนไม่เกิน 3 ครั้งต่อการทำงาน (24 ชั่วโมง) ระบบการจ่ายเงินค่าจ้างและ/หรือค่าส่วนแบ่งรายได้จากการจับสัตว์น้ำให้คนงานประมงต้องมีหลักฐานและตรวจสอบได้
"แม้แต่การนำเสนอรายงานประจำปีต่อสาธารณะ ว่าแต่ละบริษัทดำเนินการส่งสริมคุ้มครองอย่างไร ก็อาจเป็นก้าวสำคัญที่ยืนยันความก้าวหน้า ความจริงใจที่ภาคธุรกิจมี ในการแก้ปัญหาในระยะยาว” นายสมพงษ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากการหารือระหว่างภาคีเครือข่ายฯและ Seafood Task Force ทางภาคเอกชนใน Seafood Task Force เห็นว่ามีเป้าหมายเดียวกันและเห็นด้วยในหลักการร่วมกัน ซึ่งทางภาคีเครือข่ายฯ ยินดีกับท่าทีของ Seafood Task Force อย่างไรก็ตามทางภาคีเครือข่ายฯ เห็นว่าการมีเป้าหมายร่วมกันเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอจึงขอเสนอให้ Seafood Task Force มีกลไกเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วม โดยหลังจากการหารือด้วยวาจาแล้ว ทางภาคีเครือข่ายฯ จะยื่นหนังสือแนวทางแก้ไข้ปัญหาในรายละเอียด พร้อมทั้งเสนอวง Seafood Task Force ให้เปิดเผยแผนและกรอบเวลาการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาประมงอย่างยั่งยืนร่วมกันทั้งนี้ทางภาคีเครือข่ายฯ เรียกร้องให้สื่อมวลชนและสาธารณะ ได้ร่วมกันติดตาม จับตามองการแก้ปัญหา ไม่เฉพาะแต่ภาครัฐ แต่รวมทั้งการแก้ปัญหาของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่การส่งเสริมในระยะยาวหรือยั่งยืนต่อไป



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น