pearleus

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กระทรวงมหาดไทยน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนรู้รักสามัคคี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านโครงการ “สร้างชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนน้ำใจ สร้างวิถีไทยสามัคคี”

เมื่อ 16 ก.พ. 59 ที่กระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำโครงการ สร้างชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนน้ำใจ สร้างวิถีไทยสามัคคี ซึ่งเป็นหนึ่งใน16 โครงการของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน โดยเป็นการทำงานร่วมกันของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชน/หมู่บ้านให้เข้มแข็ง ประชาชนมีความรักสามัคคี มีจิตสำนึกสาธารณะ โดยน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ ได้แก่ ปวงประชา รู้ รักสามัคคี ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งและสามารถปรับใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย รวมทั้ง นำกลไกประชารัฐมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานในพื้นที่ผ่านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ เพื่อฟื้นฟูวิถีชุมชนของสังคมไทย ทั้งนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานได้มีการลงนาม MOU ร่วมกันไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา
       เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการฯ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงมหาดไทยจึงได้แจ้งให้ทุกจังหวัดเร่งขับเคลื่อนโครงการฯ ในระดับพื้นที่ ผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน/หมู่บ้าน โดยให้จังหวัดจัดทำแผนและขับเคลื่อนโครงการฯ ในภาพรวมของจังหวัด และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบและเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
       โดยให้เปิดรับสมัครชุมชน/หมู่บ้าน ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ด้วยความสมัครใจ อย่างน้อยอำเภอละ 1 ชุมชน/หมู่บ้าน รวม 878 ชุมชน/หมู่บ้าน และให้หน่วยงานราชการ ได้แก่ อำเภอ พัฒนาการอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ สนับสนุน ให้ชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมาย จัดเวทีประชาคม เน้นการทำงานในรูปแบบ ประชารัฐ”  ที่ประชาชนได้ร่วมคิด ร่วมทำ  ร่วมตัดสินใจ เพื่อจัดทำแผน/กิจกรรมเกื้อกูล 6 ด้าน ดังนี้ 1. กิจกรรมลงแขก เช่น การปรับปรุงซ่อมสร้าง ทำความสะอาดสถานที่ส่วนรวม 2. กิจกรรมลงคลอง เช่น การบำรุงรักษาแหล่งน้ำ การขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา   3. กิจกรรมถนนสวย 4. กิจกรรมหน้าบ้านหน้ามอง 5. กิจกรรมแยกขยะ และ 6. กิจกรรมครัวชุมชน เช่น การปลูกพืชผักสวนครัวแลกเปลี่ยนในชุมชนสร้างรายได้ เป็นต้น โดยมีผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) เป็นแกนหลัก ร่วมกับ คณะกรรมการหมู่บ้าน และกลุ่มองค์กรอาสาสมัครในชุมชนร่วมดำเนินการ กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมเกื้อกูลอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
       รวมทั้งได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง จัดกิจกรรมกรรมเกื้อกูลเพื่อสร้างแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนทั่วไป อย่างน้อย 2 กิจกรรม/แห่ง ซึ่งจะทำให้มีการจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นกิจกรรม

          ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนิน โครงการสร้างชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนน้ำใจ สร้างวิถีไทยสามัคคี ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 878 อำเภอ และองค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาลทุกแห่ง  ทั่วประเทศจะเป็นการสร้างกระแส และแบบอย่างที่ดีในการทำงานเพื่อส่วนรวมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งอันเกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากจุดเล็กในชุมชน/หมู่บ้าน เพื่อขยายผลสู่หน่วยใหญ่นั้นคือความเข้มแข็งของสังคมไทยและประเทศชาติต่อไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น