pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การประชุมว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งเอเชีย ประจำปี 2559

รมช.มท. เป็นประธานเปิดการประชุมว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งเอเชีย ประจำปี 2559 ย้ำประเทศไทยให้ความสำคัญในการสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน พร้อมร่วมมือกับนานาชาติเพื่อรับมือภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          เมื่อ 25 ก.พ. 59 นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งเอเชีย ประจำปี 2559 (Asian Conference on Disaster Reduction  : ADRC 2016) จัดขึ้น ณ ดวงจิต รีสอร์ท แอนด์สปา ป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ในระหว่างวันที่ 25 - 26 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมี ศูนย์ลดภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADRC) ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจาก UNISDR มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้แก่ประเทศสมาชิก ADRC องค์กรระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิก ADRC องค์กรระหว่างประเทศด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ผู้แทนหน่วยงานในประเทศไทยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวนประมาณ 100 คน
      โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมที่สำคัญในการสร้างการรับรู้ ปรับตัว ฟื้นคืนกลับได้อย่างรวดเร็วจากภัยพิบัติในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างมากในการสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน  ดังจะเห็นได้จากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 มีผลทำให้ประเทศไทย มีพันธกิจที่นำกรอบ เซนไดไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม และตนในฐานะของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติที่ประเทศเนการาบรูไนดารุสซาลาม และราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อติดตามความก้าวหน้าความร่วมมือในการลดความเสี่ยง จากภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งพบว่าผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพึงพอใจ 
    สำหรับประเทศไทยได้นำ"กรอบเซนได" เข้ามากำหนดเป็นยุทธศาสตร์การลดความเสี่ยงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 และขณะนี้อยู่ในช่วงของการนำแผนฉบับดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่นทั่วประเทศ
    รวมทั้งได้มีการดำเนินงานด้านการจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติและ     การลดผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการลดความเสี่ยงทั้งของภาคประชาชนและ ภาคธุรกิจต่อผลกระทบจากภัยพิบัติ แม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมภัยธรรมชาติได้และเป็นที่ทราบกันดีว่าภูมิภาคเอเชียนั้นเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติมากที่สุดในโลก ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการ ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติ การให้ความช่วยเหลือตอบโต้ภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที และถือเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศสมาชิกจะได้ร่วมหารือเพื่อสร้างความร่วมมือ และรวบรวมผลงานของการดำเนินงานด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของประเทศสมาชิกในภูมิภาคนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างโอกาสในการช่วยเหลือ เสริมสร้างศักยภาพทั้งในระดับประชาชนและเจ้าหน้าที่ในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมถึง การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเตือนภัยล่วงหน้า จึงขอให้ทุกประเทศได้ร่วมมือกันเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยกันและร่วมกันสร้างภูมิภาคเอเซียที่ปลอดภัยจากภัยพิบัติ
          
   สำหรับหัวข้อในการประชุมครั้งนี้มีในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ หัวข้อเรื่อง มาตรการด้านนโยบายเพื่อการ   มีชีวิตรอดจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ : สึนามิ โดยมีการถอดบทเรียนที่ได้รับจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ แนวทางปฏิบัติ  ที่ประสบผลสำเร็จในการอพยพคนขนาดใหญ่ การถ่ายทอดบทเรียนสู่คนรุ่นต่อไป เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวและ สึนามิในญี่ปุ่น พ.ศ.2554 บทเรียนจากภัยพิบัติสึนามิปาปัวนิวกินี เป็นต้น หัวข้อเรื่อง การเสริมสร้างศักยภาพด้านการ      ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยการพัฒนาด้านการฝึกอบรมและการศึกษา และหัวข้อเรื่อง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สนับสนุนการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ซึ่งทุกประเด็นผู้เข้าร่วมประชุมฯจะได้หารือร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั้งการป้องกัน การลดผลกระทบ และการเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น