ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 60 เวลา 15.00 น. นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.)กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยถึงรายละเอียดกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 30 มี.ค.60 ว่าหลังจากมีการรวบรวมข้อมูลมานานกว่า 1 เดือน และได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ว่า สิทธิของสตรีในสังคมไทยที่ยังไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย ทั้งในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย และการนับถือศาสนา นอกจากนี้ผู้หญิงยังตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในเรื่องการเมืองน้อยเกินไป ในรายงานบอกอ้างว่า กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ชนพื้นเมือง รวมถึงคนไร้สัญชาติ ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องนั้น
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ตนยังไม่ได้เห็น ตัวเลข ข้อมูลสถิติโดยละเอียดของรายงานฉบับดังกล่าว แต่ทั้งนี้ในภารกิจส่วนที่ สค. ดำเนินงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคทางเพศในสังคม การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิสตรี รวมถึงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สค. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
โดยในแต่ละประเด็น สค. ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น กรณีในรายงานระบุว่าสิทธิสตรีในสังคมไทยยังไม่เท่าเทียมกับผู้ชายในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายและการนับถือศาสนา ส่วนตัวมองว่าพลเมืองไทยซึ่งรวมถึงสตรีไทยทุกคนในประเทศไทยค่อนข้างมีเสรีในการเลือกนับถือศาสนาเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ เป็นประเทศที่ทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
สำหรับกรณีการคุ้มครองสิทธิสตรีตามกฎหมาย สค. ได้พยายามขับเคลื่อน ผลักดันเพื่อให้เกิดข้อกฎหมายใหม่ที่สามารถปกป้องสิทธิสตรีและคนไทยทุกกลุ่มได้ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ สค. และผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่ได้ขับเคลื่อนมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้สิทธิเท่าเทียมกันแก่สามีและภรรยาในการฟ้องหย่า การขยายความผิดฐานข่มขืนซึ่งครอบคลุมถึงการข่มขืนระหว่างการสมรส หญิงชายมีสิทธิในการเลือกใช้ชื่อสกุลอย่างเท่าเทียมกัน มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่คุ้มครองให้ทุกคนไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างทันสมัย เหล่านี้เป็นตัวอย่างและหลักฐานการทำงานที่เราขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศและความเป็นธรรมในสังคม
ในส่วนของการมีส่วนร่วมของผู้หญิงกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ขอเรียนว่า สค. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงในทุกด้านทุกระดับ สค. เน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ผู้หญิงไทยของเรามีความสามารถในทุกด้าน ทั้งการดูแลบ้าน เป็นกำลังหลักของครอบครัว รวมถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรม และการตัดสินใจในระดับต่างๆ ของชุมชนและสังคม เพื่อให้สตรีไทยมีศักยภาพที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของสังคมได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่า ภาพของผู้หญิงเก่งในสังคมไทย มีให้เห็นเป็นจำนวนมากในทุกวงการ นอกจากนี้ สค. ยังเน้นไปที่โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การฝึกอาชีพ ซึ่งรวมถึงการร่วมมือกับนักธุรกิจสตรีในระดับประเทศ หรือระดับอาเซียน
ทั้งนี้ในการเพิ่มช่องทางการพัฒนาศักยภาพสตรีในด้านธุรกิจ หรือแม้แต่ผู้หญิงไทยที่เดินทางไปใช้ชีวิตในต่างแดน สค. เองได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ ในการดูแลผู้หญิงไทยกลุ่มนี้ ยกตัวอย่างเช่น การตั้งศูนย์ช่วยเหลือหญิงไทยในต่างประเทศ การสร้างเว็ปไซต์หญิงไทยดอทเนต และพัฒนามาสู่แอพหญิงไทย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันและให้ความช่วยเหลือผู้หญิงไทยในต่างประเทศ
สำหรับกรณีที่มีรายงานว่าผู้หญิงยังตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว นั้น ในกรณีนี้ สค. ได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ในทางกฎหมาย สค. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 การใช้กลไกของทีมสหวิชาชีพในพื้นที่ การประสานช่องทางสายด่วน 1300 รวมถึงการใช้กลไกเฝ้าระวังในชุมชน
อย่างไรก็สำหรับในภาพรวมของสังคมได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างกระแส ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการช่วยกันแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งการดำเนินการในการสร้างความเสมอภาคในสังคมและการป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
"ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อ ทัศนคติ และประเพณีที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนาน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนเรายังคงต้องใช้เวลาในการปรับจุดนี้อย่างต่อเนื่องอีกสักระยะ และลำพัง พม. เองคงจะดำเนินการให้บรรลุผลเพียงกระทรวงเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยทุกภาคส่วนในสังคมช่วยกันปรับทัศนคติ ดูแล และสร้างสรรค์ให้สังคมไทยเราเกิดความเสมอภาคขึ้นอย่างแท้จริงครับ" นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น