คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
มีมติเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย
ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
และให้กระทรวงมหาดไทย
รับไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนการจัดตั้งโรงกำจัดขยะมูลฝอยในภาพรวม
ของประเทศ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย
เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาขยะในภาพรวมของประเทศ
โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เป็นหน่วยงานสนับสนุนในการดำเนินการ
และพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ
และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการดังกล่าวด้วย
นายวัลลภ
พริ้งพงษ์
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดำเนินการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาพรวมของประเทศ
ซึ่งเป็นการบรูณาการการทำงานที่สอดคล้องกับ Road Map การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยได้ศึกษาวิเคราะห์รวบรวมข้อมูล เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางและวิธีการใน ๓
ประเด็น คือ
การรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอยร่วมกัน
(Clusters)
โดยใช้เขตพื้นที่การปกครองเป็นหลัก
การแบ่งกลุ่มแต่ละกลุ่มใช้เขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่ติดต่อกัน
หรือมีเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียงกัน
และใช้ข้อมูลจำนวนปริมาณขยะเป็นเกณฑ์ในการจัดกลุ่ม
โดยแต่ละกลุ่มพื้นที่แบ่งออกเป็น ๓ ขนาด ได้แก่ กลุ่มพื้นที่ขนาดใหญ่ (L)
หมายถึงกลุ่มพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมกันแล้ว
มากกว่า ๕๐๐ ตัน/วันขึ้นไป แบ่งกลุ่มพื้นที่ได้ จำนวน ๔๔ กลุ่ม
ใน ๒๗ จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ ๑,๓๔๗
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มพื้นที่ขนาดกลาง (M)
หมายถึงกลุ่มพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมกัน ตั้งแต่
๓๐๐ – ๕๐๐ ตัน/วัน แบ่งกลุ่มพื้นที่ได้ จำนวน ๖๐ กลุ่ม ใน ๕๐
จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ ๓,๐๙๒ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และกลุ่มพื้นที่ขนาดเล็ก (S) หมายถึง
กลุ่มพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมกันแล้วน้อยกว่า ๓๐๐
ตัน/วัน แบ่งกลุ่มพื้นที่ได้ จำนวน ๔๗ กลุ่ม ใน ๔๓ จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ ๒,๑๖๕ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
วิธีการกำจัดขยะมูลฝอยตามกลุ่มพื้นที่ข้างต้น สามารถดำเนินการได้โดย การฝังกลบ
การหมักทำปุ๋ย เตาเผาขนาดเล็ก เชื้อเพลิงขยะ เตาเผาขนาดใหญ่ และการผลิตไฟฟ้า
การพิจารณาค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอย
(Rates)
เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า จากการประชุมหารือร่วมกัน
ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสุรนารี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
กรมโยธาธิการและผังเมือง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สามารถกำหนดค่าเฉลี่ยค่าขนถ่ายและกำจัดขยะมูลฝอยดังนี้ ค่าเฉลี่ยค่าขนถ่าย (Logistics) โดยการขนย้ายขยะมูลฝอยไปกำจัดยังสถานที่กำจัดขยะ
พิจารณาค่าใช้จ่ายจากองค์ประกอบสำคัญๆ ได้แก่ ค่ารถบรรทุก ค่าคนขับรถบรรทุก/รถขยะ
ค่าคนเก็บขยะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าบำรุงรักษา
เป็นต้น ซึ่งในการขนถ่ายขยะมูลฝอยไปยังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยระยะทาง
ที่คุ้มค่าไม่ควรเกิน ๓๐ กิโลเมตร โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการขนถ่ายคือ ๘๕๐ บาท/ตัน
หรือ ๔๒.๔๐ บาท/ตัน/กิโลเมตร สำหรับค่าเฉลี่ยค่ากำจัดขยะมูลฝอย (Tipping
Fee) โดยการกำจัดขยะมูลฝอยในแต่ละวิธีการ
จะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน พิจารณาจากองค์ประกอบสำคัญๆ ได้แก่ ค่าจ้างบุคลากร
ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น ค่าซ่อมบำรุง ค่าดินกลบทับมูลฝอย
ค่าแผ่นพลาสติกในการกลบทับ เป็นต้น โดยค่าเฉลี่ยในการฝังกลบขยะมูลฝอย จำนวน ๓๑๔
บาท/ตัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการกำจัดขยะมูลฝอยระบบผสมผสาน จำนวน ๕๐๐ บาท/ตัน
และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในระบบเตาเผาขนาดใหญ่ จำนวน ๑,๐๒๗
บาท/ตัน
การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(Law) เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะ
มูลฝอยในภาพรวมของประเทศ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
บทบัญญัติกฎหมายที่ควรให้กระทรวงมหาดไทย
มีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
คือการเพิ่มเติมจากอำนาจหน้าที่เดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งแต่เดิมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่เฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้นและอำนาจหน้าที่ควรกำหนดเพิ่มขึ้นให้กับกระทรวงมหาดไทย
อาทิ การกำหนดมาตรฐานวิธีการเก็บขน และการกำจัดขยะมูลฝอย
ตลอดจนการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้การบริหารจัดการขยะมูลฝอยจะต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่
เนื่องจากในการกำจัดขยะมูลฝอยส่งผลกระทบต่อประชาชนและสภาพแวดล้อม ดังนั้น
การพิจารณาคัดเลือกสถานที่กำจัดขยะ ควรพิจารณามิให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน
หรือจัดให้มีกระบวนการในการควบคุมผลกระทบในทุกด้านให้อยู่ในขอบเขตการยอมรับของประชาชนในพื้นที่
โดยเฉพาะการจัดให้มีกระบวนการคัดแยกขยะที่ไม่ย่อยสลายก่อนการนำไปฝังกลบ
และการจัดการขยะมูลฝอยควรอยู่ในหลักการ ขยะเกิดในพื้นที่ใด ควรเป็นความรับผิดชอบในการกำจัดของพื้นที่นั้น” ดังนั้น โดยหลักการทั่วไป
การกำจัดขยะในพื้นที่ควรเป็นความรับผิดชอบในเบื้องต้นของพื้นที่นั้น ยกเว้น
กรณีที่มีความคุ้มทุนในการนำขยะไปกำจัด เพื่อให้เกิดประโยชน์
หากจำเป็นต้องขนถ่ายขยะไปพื้นที่อื่นควรดำเนินการเฉพาะเท่าที่จำเป็นต้องดำเนินการ
เช่น การใช้เทคโนโลยีในการกำจัดขยะร่วมกันระหว่างหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ซึ่งในกรณีดังกล่าว
จำเป็นต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น