เมื่อเร็วๆนี้ "สยามธุรกิจ"มีโอกาสร่วมเดินทางลงพื้นที่ไปกับ รมว.ศึกษา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ พร้อมด้วยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาฯ ที่โรงเรียนเต่างอยพัฒนศึกษา จ.สกลนคร เพื่อรับฟังปัญหาของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ "โรงเรียน
ที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน" หรือโรงเรียน ICU (Intensive Care Unit) โดยมีผู้ว่าฯสกลนคร ผู้แทนฝ่ายความมั่นคง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นายประเสริฐ ปัตโชติชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนเต่างอยพัฒนศึกษา ให้การต้อนรับและร่วมหารือร่วมกัน
รมว.ศธ. กล่าวว่า โรงเรียนเต่างอยพัฒนศึกษา จ.สกลนคร สมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียน ICU เนื่องจากประสบปัญหาในหลาย ๆ ด้าน เช่น 1. ด้านนักเรียน พบว่า นักเรียนขาดแรงจูงใจ ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ มีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น มีจิตสาธารณะต่ำส่วนใหญ่เด็กมาจากครอบครัวที่ขาดความพร้อม ขาดความเอาใจใส่ มีปัญหา เมื่อเรียนจบหลักสูตรการศึกษา ไม่มีทักษะอาชีพ มีปัญหาด้านการอ่าน เขียนภาษาไทย 2.ด้านครู พบว่า ครูไม่ได้ดำเนินการตามรูปแบบ PLC ไม่ได้จัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ขาดครูและบุคลากรที่เป็นเจ้าของภาษา เช่น ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาเวียดนาม 3. ด้านหลักสูตร พบว่า หลักสูตรไม่สอดคล้องต่อบริบทชุมชนในการประกอบอาชีพ 4. ด้านเทคโนโลยี พบว่าทางโรงเรียนมีอุปกรณ์ไม่ทันสมัยและไม่มีประสิทธิภาพ ขาดห้องปฏิบัติการด้านภาษา ขาดห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร ขาดสื่อและอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ ต่าง ๆ เช่น ห้องเคมี ห้องฟิสิกส์ ห้องชีววิทยา ห้องคณิตศาสตร์ (กระดานอัจฉริยะ) ห้องปฏิบัติการทางภาษา เป็นต้น
ดังนั้นจากการวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าว ถือเป็นปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างฉุกเฉินเร่งด่วนตามโครงการโรงเรียนไอซียู จึงไม่นับเป็นโรงเรียนไอซียู แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะไม่ใช่โรงเรียนไอซียูแท้ แต่ก็จะได้รับการพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เร็วกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาครู ให้ตอบโจทย์การบูรณาการการจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิดสู่ผู้เรียน ใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ส่วนด้านหลักสูตร ก็จะแก้ไขโดยการจัดการศึกษาเพื่อสร้างอาชีพและมีงานทำ โดยใช้กระบวนการการเรียนการสอนตามหลักสูตรมากยิ่งขึ้นภายใต้การดำเนินการเต่างอยโมเดล 4.0 โดยการลง MOU กับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
รมว.ศธ. กล่าวถึงภาพรวมการแก้ไขปัญหาโรงเรียนไอซียูให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ ว่าต้องมีการกำหนดแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีการจัดสรรทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ให้เพียงพอ โดยใช้แนวทางในการพัฒนาครูต้องขับเคลื่อนมาจากปัจจัยภายใน และต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอกด้วย
ทั้งนี้จะมีการจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาขึ้น โดยทำหน้าที่อบรมด้านวิชาการให้นักศึกษาครูจบใหม่ เพื่อการพัฒนาครู ที่ผ่านการคัดเลือกโดยสถาบันคุรุศึกษา เพื่อเป็นการกำหนดทิศทาง แนวทางการเป็นครูที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแยกส่วนกับสำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. ที่จะทำหน้าที่อบรมพัฒนาให้แก่ผู้ที่เป็นครูสังกัด สพฐ. อยู่แล้ว
โดยการวางแนวทางปฏิรูปครูครบวงจร เชื่อมการพัฒนาครูกับวิทยฐานะ โดยวัดจากชั่วโมงการสอน ส่วนงบพัฒนาครูจะใช้เป็นระบบคูปอง 10,000 บาทต่อคนต่อปี รวมงบประมาณกว่า 4 พันล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงกับการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการอบรม PLC (Professional Learning Community) หรือ "ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ" ให้กับครู และผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศ ด้วยการนำคนมาอยู่รวมกัน ให้เกิดการเรียนรู้ และแบ่งปันความรู้กันระหว่างผู้เข้าร่วมอบรม จนกระทั่งเกิดการสะท้อนความคิดในด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับจำนวนโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนไอซียู ที่ต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนฉุกเฉินมีประมาณ 2,252โรง และรองลงมาคือจะต้องมีการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนประมาณ 1,954 โรงและโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแต่ถือว่าไม่มีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน แต่ก็จะได้รับการแก้ไขปัญหาเร็วกว่าปกติ อีกประมาณ 850 โรง โดยกระทรวงฯจะเข้ามาแก้ไขและให้ความช่วยเหลือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น