งานด้านนิติเวชวิทยาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๖โดยกรมตำรวจ (ในขณะนั้น) ได้รับโอนนายแพทย์ถวัลย์
อาศนะเสน จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาอยู่โรงพยาบาลตำรวจเพื่อทำหน้าที่ทางนิติเวชศาสตร์และวางโครงการจัดตั้งแผนกนิติเวชวิทยาขึ้นในโรงพยาบาลตำรวจ
โดยได้เริ่มทำการผ่าศพเพื่อชันสูตรพลิกศพครั้งแรกในวันที่ ๑๓ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๖
และจะก้าวสู่การครบรอบ ๖๐ ปีในวันที่ ๑๓ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ นับตั้งแต่วันแรกของการเริ่มต้น
งานนิติเวชตำรวจก็เน้นการสนับสนุนงานด้านอำนวยความยุติธรรม ทำหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ
หาสาเหตุการตาย ตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลมาอย่างต่อเนื่อง
และดูจะไม่มีโอกาสเหนื่อยล้าต่อภารกิจนี้
แม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้างในบางจังหวะของการย่างก้าว แต่เวลาน่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์เนื้อแท้ในตัวตนของผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างดี
จนวันนี้ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากลทางห้องปฏิบัติการISO17025 ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๖ และกำลังพัฒนาเพื่อก้าวสู่การเป็น ศูนย์กลางความเป็นเลิศทางวิชาการด้านนิติเวชศาสตร์
(Excellence Center in Forensic Medicine) กล่าวคือ
สถาบันนิติเวชวิทยา กำลังต่อยอดงานนิติเวชตำรวจ
ให้เป็นศูนย์กลางตรวจพิสูจน์ด้านนิติเวชศาสตร์ที่ดีเลิศเป็นศูนย์กลางในการตรวจพิสูจน์หลักฐานเกี่ยวกับบุคคลเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านนิติเวชศาสตร์
มีมาตรฐานสากล และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานยุติธรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การเป็นที่พึ่งซึ่งประชาชนและเจ้าพนักงานที่ใช้บริการมีความเชื่อมั่นและประทับใจ ในโอกาสครบ “๖๐ ปีนิติเวชตำรวจ” นี้
โรงพยาบาลตำรวจโดยสถาบันนิติเวชวิทยาได้จัดงาน “เปิดบ้าน – สถาบันนิติเวชวิทยา” ในวันที่
๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ เพื่อให้ประชาชนและผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของสถาบัน
อันจะเห็นได้ถึงความโปร่งใส และความเชื่อถือได้ในกระบวนการทั้งหมด ประกอบด้วย
· ชมห้องผ่าศพในระบบปลอดเชื้อ
เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและป้องกันการแพร่ของเชื้อสู่สิ่งแวดล้อม
พร้อมชมห้องสาธิตที่ทันสมัย
· ชมสาธิตการผ่าศพ(รอบละ
๔๐ คน) – เฉพาะช่วง ๑๐.๐๐ -๑๒.๐๐ น.
· ชมการสาธิตระบบท่อลม
รับ-ส่ง สิ่งส่งตรวจ ซึ่งจะนำส่งชีววัตถุพยานจากห้องผ่าศพ หรือจุดรับ –
ส่งวัตถุพยานตรงไปยังห้องปฏิบัติการทันที เพื่อลดปัญหาเรื่องการส่งต่อวัตถุพยาน
· ชมการสาธิตการทำภาพเชิงซ้อนเพื่อพิสูจน์ศพนิรนาม
ซึ่งใช้ในการไขปริศนาคดีฆ่าหั่นศพมาหลายคดี
· ชมการเรียงกระดูกเพื่อการตรวจพิสูจน์
จากกองกระดูกสู่โครงร่าง และนำสู่การคลี่คลายคดี
· ชมเครื่องมือพิเศษ และการสาธิตการตรวจพิสูจน์ทางนิติพิษวิทยา
สามารถตรวจหายาจากเลือดและปัสสาวะกว่า ๗๐๐ ชนิดภายในเวลา ๓๐ นาที
· ชมเครื่องมือการตรวจพิสูจน์ทางพันธุกรรม
เทคนิคในการเก็บชีววัตถุจากร่างกายมนุษย์ ความก้าวหน้าในการตรวจทางพันธุกรรม การสาธิตการตรวจหา
ตัวอสุจิ และส่วนประกอบของน้ำอสุจิ
นอกจากนี้ ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม
๒๕๕๖ มีงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “นิติเวช กับ หลักสิทธิมนุษยชน”ในหัวข้อ
อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน
เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการทำบุญทางศาสนา เพื่อเป็นสิริมงคลของบุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประชาชนด้วย.