pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

รมว.มท. เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาผักตบชวา ย้ำเดินหน้าใช้ “เซลล์เล็กๆในพื้นที่” เป็นพลังประชารัฐ พลังชุมชน กำจัด เฝ้าระวัง อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

เมื่อ 23 มี.ค.60 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 1 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบแนวทางการแก้ไขปัญหาผักตบชวา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานทหาร กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมวิชาการเกษตร และกรุงเทพมหานคร
เข้าร่วมประชุม
 

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่รัฐบาล โดยรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ได้มีนโยบายและข้อสั่งการในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาให้เกิดความยั่งยืน โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผักตบชวาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องภายหลังจากที่ได้ดำเนินการตามมาตรการเก็บใหญ่ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 7 ล้านตัน
ซึ่งในที่ประชุม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายการแก้ไขปัญหาผักตบชวา โดยย้ำว่า ทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะผักตบชวาเป็นปัญหาสำคัญมีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการแก้ไขปัญหาผักตบชวาจึงมิใช่เพียงการดำเนินการให้แล้วเสร็จเท่านั้น แต่จะต้องมีการติดตามแก้ไขอย่างต่อเนื่องด้วยเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยอาศัยกลไกในพื้นที่ คือ จังหวัด อำเภอ ท้องถิ่นบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน โดยมีภาครัฐทำหน้าที่ให้การสนับสนุนเสริมศักยภาพความพร้อมในการดำเนินการ เช่น การจัดสรรเรือท้องแบนติดเครื่องยนต์ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีแหล่งน้ำในพื้นที่อย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ อีกมาตรการสำคัญที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา คือ การจัดตั้ง ชมรมคนริมน้ำในทุกพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพื่อช่วยเฝ้าระวังไม่ให้ปริมาณผักตบชวาสะสมจนเกิดปัญหาและกำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน โดยมีผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ เข้าร่วมดำเนินการ ซึ่งมีเป้าหมายจัดตั้งชมรมให้แล้วเสร็จทั่วประเทศภายในเดือนเมษายนนี้

สุดท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาผักตบชวาจะไม่สามารถเกิดผลสำเร็จได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน จึงขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชนให้ทราบถึงปัญหาและผลกระทบของผักตบชวาที่จะก่อปัญหาให้ชุมชน และเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกลไก พลังประชารัฐเน้นสร้างความร่วมมือและจิตอาสาจาก เซลล์เล็ก ๆที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องช่วยกันกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ของตนเองซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น