pearleus

วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

สคร. 5 ราชบุรี แนะคนขับรถควรแวะพักเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ หากจำเป็นต้องนอนในรถ ขอให้แง้มกระจกเล็กน้อยเพื่อระบายอากาศ

          สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค เผยพบการเสียชีวิตจากการเปิดแอร์นอนในรถเกือบทุกปีอย่างน้อยปีละประมาณ 1-2 ราย  พร้อมแนะคนขับรถควรแวะพักเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะเพื่อป้องกันอาการง่วงนอน หากจำเป็นต้องนอนในรถ ให้แง้มกระจกเล็กน้อย 2-3 ซม. เพื่อระบายอากาศ ควรนอนพอให้หายอ่อนเพลียประมาณ 30-40 นาที
           นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กล่าวถึงกรณีที่พบผู้เสียชีวิต 2 รายในรถที่จอดรถติดเครื่องยนต์นอนในปั้มน้ำมันและปิดกระจกทุกบานโดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเปิดแอร์นอนในรถถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เนื่องจากในขณะที่เราสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ปิดกระจกมิดชิด เท่ากับว่าเป็นการนอนดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) โดยที่ก๊าซพิษเหล่านั้นจะไหลเวียนมาจากระบบแอร์ของรถยนต์ ที่มีการดูดอากาศจากภายนอกมาหมุนเวียนภายในรถ ทำให้คนที่นอนอยู่ในรถขาดอากาศหายใจ ออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงทำให้หมดสติ และอาจถึงตายได้ โดยอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดอาการแบบเฉียบพลันแต่จะค่อยเป็นค่อยไปแบบไม่รู้สึกตัวขณะที่เรานอนหลับ
            โดยที่ผ่านมา พบว่ามีการเสียชีวิตจากการเปิดแอร์นอนในรถเกือบทุกปีอย่างน้อยปีละประมาณ 1-2 ราย เช่น ปี 2553 เสียชีวิต 1 คน  ปี 2555 เสียชีวิต 1 ราย  ปี 2557 เสียชีวิต 2 ราย  ปี 2558 เสียชีวิต 3 ราย (ก.พ. 1 ราย และ ต.ค. 2 ราย) และล่าสุดกรณีดังกล่าวเสียชีวิต 2 ราย 
          นายแพทย์สุเมธ กล่าวต่อไปว่า วิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้ 1.ควรมีการแวะพักเพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ เพื่อป้องกันอาการง่วงนอน  2.หากรู้สึกง่วงมากๆ และจำเป็นต้องนอนพักในรถยนต์ ควรหาที่จอดในที่โล่ง เมื่อจอดรถแล้ว ดับเครื่องยนต์ แง้มกระจกลงสักนิด 2-3 เซนติเมตร เพื่อระบายอากาศและรับลมจากภายนอก ห้ามเปิดแอร์และปิดกระจกโดยเด็ดขาด  และ 3.ใช้พัดลมแอร์ช่วยให้หลับ เมื่อพร้อมจะหลับก็ให้บิดกุญแจไปที่จังหวะออนเพื่อให้ระบบไฟฟ้าทำงาน แล้วจึงบิดเปิดสวิทช์แอร์ เมื่อเปิดแล้วให้กดที่ปุ่ม A/C หรืออาจจะเป็นรูปรถที่มีลูกศรชี้เข้ามาในตัวรถจากภายนอก ซึ่งพัดลมแอร์จะดูดอากาศมาหมุนเวียนในห้องโดยสาร แม้จะไม่เย็นเหมือนแอร์แต่ก็ทำให้หลับได้เช่นกัน และควรนอนพอให้หายอ่อนเพลียประมาณ 30-40 นาที เมื่อพร้อมแล้วจึงเดินทางต่อ

           หากประชาชนพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือพบผู้ที่นอนในรถนานผิดปกติ เคาะเรียกแล้วไม่รู้สึกตัว ขอให้โทรขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669  และหากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี เบอร์ติดต่อ 032310804 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 นายแพทย์สุเมธ กล่าวปิดท้าย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น