รัฐเตรียมปล่อยน้ำลง 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง 10 จว.
ดีเดย์ 1 พ.ค. นี้ สานต่อแนวทางเลื่อนเพาะปลูกเร็วขึ้น
ลดความเสียหายผลผลิต พร้อมใช้พื้นที่ช่วยชะลอน้ำท่วม ชี้เกษตรกรพึงพอใจ
ในวันที่ 1 พ.ค. นี้ รัฐบาลจะเริ่มส่งน้ำเข้าพื้นที่ 12 ทุ่งลุ่มต่ำ ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ครอบคลุม 10
จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ จ.นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี
อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี รวมพื้นที่ 1.15 ล้านไร่ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้เตรียมการเพาะปลูกข้าวเร็วขึ้น 1 เดือน ซึ่งประสบผลสำเร็จมากในปีที่แล้ว
"รัฐบาลออกมาตรการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมทุกปี
โดยเลื่อนปฎิทินการเพาะปลูก และใช้พื้นที่ 12
ทุ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติชั่วคราวสำหรับพักชะลอน้ำรองรับน้ำหลากหลังเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จช่วงเดือน
ก.ย. โดยปีที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ทั้ง ๆ ที่มีปริมาณฝนตกสะสมใกล้เคียงกับปี 2554
แต่ไม่เกิดความเสียหายเท่ากับปี 2554"
สำหรับมาตรการครั้งนี้ถือเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องจากปีก่อน โดยสามารถรองรับน้ำไว้ได้มากถึง 1.5 พันล้านลบ.ม. ซึ่งเท่ากับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 2
เขื่อน ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนตามแนวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
เขตเศรษฐกิจตอนล่าง กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยดำเนินการควบคู่กับการปรับปรุงเสริมคันกั้นน้ำให้มั่นคงแข็งแรง
เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ
และไม่เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร
นอกจากนี้
พื้นที่แก้มลิงก่อให้เกิดอาชีพประมง
เป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เสริม
รวมทั้งทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของดิน ช่วยตัดวงจรการแพร่ระบาดโรคพืชและแมลงต่าง
ๆ ได้ดี โดยพบว่าชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรังได้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์สูง
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร
โดยรับทราบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นประจำ จึงได้สั่งการให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน
โดยได้ออกมาตรการเลื่อนเวลาการปลูกข้าวจากเดือน มิ.ย. เป็นเดือน พ.ค
ซึ่งช่วยลดความเสียหายได้มาก
พร้อมทั้งกำชับให้ขยายผลไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นทั้งในภาคใต้
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วย
"นายกฯ
เน้นย้ำอยากให้พี่น้องเกษตรกรมีความสามัคคีและร่วมมือกัน
เพาะปลูกหรือทำการเกษตรอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อถึงเวลาเปิดปิดน้ำ
ซึ่งนอกจากจะเกิดผลดีต่อพี่น้องเกษตรกรโดยตรงแล้ว
ยังช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางอีกด้วย"