pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำเนินการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำเนินการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ให้แก่สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มุ่งเน้นกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนา
นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเรื่อง ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ  การคิด วิเคราะห์ และมีคุณภาพการเรียนที่ดีขึ้น  ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แจ้งแนวทางเพื่อปรับเวลาเรียนและพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์และมีคุณภาพการเรียนที่ดีขึ้น รวมถึงมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” และ Smart Trainer : ผู้นำการนิเทศการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครูของสถานศึกษาที่ร่วมนำร่องในการดำเนินการ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้มีความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการเวลาเรียน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะที่        เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน กำกับดูแล ประสานงานการจัดการศึกษาให้สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จึงแจ้งแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียน ในรูปแบบ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่มีการปรับปรุงเนื้อหาภายในของแต่ละวิชา             โดยไม่กระทบกับหลักสูตร เนื้อหาการเรียนการสอน ดัชนีที่ใช้ประเมิน ตลอดจนการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ (NT) และการทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) โดยจะมีการจัดโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ ให้มีเวลากิจกรรมพัฒนาทักษะอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีการจัดฝึกอบรมครู (Workshop) และจัดให้มีทีม Smart Trainers เพื่อกำกับดูแลและให้คำแนะนำในการจัดการเรียนการสอน ทางด้านรูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ จะมุ่งเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่างๆ คือ 1. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (กิจกรรมบังคับตามหลักสูตร) ที่ประกอบด้วยกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมและสาธารณประโยชน์             2. Head หรือกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะการเรียนรู้ (Cognitive) ประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมพัฒนาความสามารถด้านการสื่อสาร ด้านการคิดและการพัฒนากรอบความคิดแบบเปิดกว้างด้านการแก้ปัญหา พัฒนาความสามารถ   ด้านการใช้เทคโนโลยี พัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ 3. Heart หรือกิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม (Affective) ประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกในการ      ทำประโยชน์ต่อสังคม มีจิตสาธารณะและการให้บริการต่างๆ ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ความรักชาติ  ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม (มีวินัย ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ อดทน มุ่งมั่นในการทำงาน กตัญญู) มีความรัก ความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และหวงแหนสมบัติของชาติ 4. Hand หรือกิจกรรมสร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต (Psychomotor) ประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมที่ตอบสนองความสนใจ ความถนัด และความต้องการของผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกการทำงาน ทักษะอาชีพ ทรัพย์สินทางปัญญา    อยู่อย่างพอเพียง และมีวินัยทางการเงิน พัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต สร้างเสริมสมรรถนะทางกาย
ทั้งนี้ จะมีการประเมินผลการดำเนินการในช่วงระหว่างภาคเรียน 2 ครั้ง และหลังปิดภาคเรียน 1 ครั้ง และจะมีการศึกษาแนวทางการดำเนินการจากโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อขยายผลการดำเนินการไปยังโรงเรียนอื่นๆ ตลอดจนศึกษาปัญหาและอุปสรรค เพื่อปรับปรุงการดำเนินการต่อไป

ขอบคุณภาพ คณะทำงาน รมช.ศธ.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น