pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นครปฐมตรวจสถานประกอบกิจการที่ใช้แรงงานต่างด้าวทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม


วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 นายจำเริญ  ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานแรงงาน สำนักงานจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และอาสารักษาดินแดน ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบกิจการที่ใช้แรงงานต่างด้าวทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ณ บริษัท สวิซซ์ วัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 4/1-2 หมู่ 7 ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ตามมาตรการป้องกันขบวนการแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และขบวนการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยนายจำเริญ  ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดนครปฐมถูกตั้งเป้าหมายเป็นพื้นที่พักและส่งต่อแรงงานต่างด้าว จึงได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ลงพื้นที่ดูแลและตรวจสอบแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบกิจการต่างๆ อีกทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสภาพสังคมโดยรวมในการอยู่ร่วมกัน ระหว่างนายจ้าง แรงงานคนไทย และแรงงานต่างด้าว ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ และบริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าว ในเรื่องของกฎหมายการจ้างแรงงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆ ที่แรงงานต่างด้าวควรได้รับ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัท สวิซซ์ วัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท ดีสโตน เป็นสถานประกอบกิจการผลิตยางรถยนต์ ยางใน และการหล่อดอกยาง แบ่งเป็นสองโรงงาน มีพนักงานประมาณ 6,000 คน มีการจ้างแรงงานต่างด้าวประมาณ 1,700 คน โดยนายเกริก วงศาริยวานิช กรรมการผู้จัดการฯ กล่าวว่า ในส่วนของแรงงานต่างด้าว ได้นำไปจดทะเบียนขออนุญาตทำงานตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่มีขบวนการแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และขบวนการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมทั้งปัญหายาเสพติดภายในโรงงาน ซึ่งบริษัทมีสวัสดิการ ค่าตอบแทนต่างๆ ให้กับแรงงานและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่นในพื้นที่ ดูแลที่พักอาศัยภายในชุมชนแรงงานต่างด้าว ให้มีความสะอาด การจัดการขยะ ป้องกันการเกิดโรคระบาด ตลอดจนสอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อย เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด การมั่วสุม การทะเลาะวิวาท โดยให้ดำเนินการเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมาตรฐานและภาพลักษณ์ที่ดี ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ ในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน










0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น