pearleus

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ผกก.เมืองสมุทรสาคร สนธิกำลังตรวจล้งกุ้ง"บุญมา"หลังถูกพม่าร้องเรียนว่ากักขังแรงงาน..

              

             
               เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. ของวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร พร้อมด้วย พ.ต.อ.ชัยยุทธ ถมยา ผกก.สภ.เมืองสมุทรสาคร  ร่วมกับ จ.อ.นพพร กิจรัตนา นักวิชาการแรงงานชำนาญการจังหวัดสมุทรสาคร นายรังสรรค์ ศรีดาราวงษ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ พ.ต.ท.จักรพัฒน์ จันทร์เที่ยง สวป.สภ.เมืองสมุทรสาคร,พ.ต.ท.สุทธิพงษ์ อ่อนลออ สวป.สภ.เมืองสมุทรสาคร,ร.ต.ท.ณัฎฐพล เจริญบุญญาฤทธิ์ หน.บริการประชาชนคลองครุ ต.ท่าทราย และกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกเกือบ 10 นาย เข้าตรวจสอบที่โรงงานแกะกุ้ง หรือล้งกุ้งแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่เลขที่  181/14 หมู่ที่ 6 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร หลังมีแรงงานพม่ารายหนึ่งเข้าร้องเรียนต่อนาย LA NAI หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า นายไค่ยี ผู้ประสานงานสถานทูตเมียนมาร์ประจำจังหวัดสมุทรสาครว่า ขอให้ช่วยพาเพื่อนแรงงานเมียนมาร์กว่า 50 คน ออกมาจากล้งกุ้งแห่งนี้เพราะถูกกักขังไว้ภายในให้ทำงานและไม่ให้ออกไปไหน เป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยวอีกทั้งยังมีการทำร้ายร่างกายกันด้วย
                ทั้งนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปถึง ปรากฏว่าตั้งแต่สภาพประตูหน้าโรงงาน หรือ ล้งแกะกุ้งนั้น ไม่มีการล็อคกุญแจไว้แต่อย่างใดทั้งสิ้น เป็นโรงงานอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นสถานที่สำหรับให้คนงานทำงานแกะกุ้ง ส่วนชั้นบนทำเป็นที่พักอาศัยของแรงงานเมียนมาร์ ด้านหลังโรงงานก็มีที่พักสำหรับแรงงานเมียนมาร์อีกจำนวนหนึ่งแบ่งเป็นห้องๆ เป็นสัดเป็นส่วน มีรั้วโรงงานสูงประมาณ 5 เมตร ไม่มีลักษณะของการติดอุปกรณ์เพื่อป้องกันการหลบหนีแต่อย่างใดทั้งสิ้น ส่วนโรงงานด้านข้างก็เป็นโรงงานว่างเปล่าที่กำลังประกาศขายอยู่ ขณะที่ทางด้านของเจ้าของล้งกุ้งคือ นายบุญมา สุจินดากุล อายุ 44 ปี ก็ได้ออกมาต้อนรับเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจสอบและนำเข้าไปดูการทำงานภายในสถานประกอบกิจการเป็นอย่างดี ไม่มีการขัดขืนหรือมีพิรุธแต่อย่างใดทั้งสิ้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ขอให้หยุดการทำงานชั่วคราวและให้นำแรงงานเมียนมาร์ออกมาให้หมดซึ่งก็พบว่ามีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 45 คน พร้อมกันนี้ก็ได้แจ้งให้ทางเจ้าของโรงงานได้รับทราบถึงการเข้าตรวจสอบในครั้งนี้ โดยทางนายบุญมาฯ เจ้าของโรงงานก็ยินดีให้ตรวจสอบทุกอย่างทั้งเอกสารการจ้างงาน ทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว บัญชีการจ่ายเงินให้กับแรงงานต่างด้าวทั้ง 45 คน ซึ่งทำงานเป็นแบบรายเหมา บันทึกเวลาการทำงานของแต่ละคน รวมถึงการแสดงพาสปอร์ตหรือบัตรสีชมพูของแรงงานต่างด้าวที่มีครบทุกคน
                เบื้องต้นจากการที่ได้พูดคุยกับแรงงานเมียนมาร์ผ่านทางล่ามโดยผู้ประสานงานสถานทูตเมียนมาร์ประจำจังหวัดสมุทรสาครก็พบว่า มีแรงงานที่ต้องการจะออกการเป็นพนักงานรายเหมาของที่โรงงานแห่งนี้ และอีกกลุ่มเป็นแรงงานที่ต้องการจะทำงานต่อไปกับนายจ้างคนเดิม ดังนั้นทางผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร จึงได้ให้มีการคัดแยกแรงงานสัญชาติเมียนมาร์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ประสงค์ออกจากงาน คืนนี้ให้ไปพักอาศัยอยู่ที่ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 60 จังหวัดสมุทรสาครก่อน จากนั้นก็ให้ทางเจ้าหน้าที่ของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสาคร เข้ามาพูดคุยเพื่อรับทราบปัญหาและคัดแยกประเภทของบุคคลเหล่านี้ว่ามีการถูกกระทำที่รุนแรงหรือไม่ โดยคนงานกลุ่มนี้ก็มีประมาณ 18 คน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงต้องการทำงานที่เดิมก็ให้กลับเข้าที่พักอาศัยก่อน
                จากการสอบถามแรงงานเมียนมาร์รายหนึ่งที่ต้องการจะออกจากที่ทำงานเดิมบอกว่า เหตุที่จะไปจากโรงงานนี้เพราะว่าได้เงินน้อยไม่พอกับค่าใช้จ่าย บางวันได้เงินแค่ร้อยกว่าบาทเท่านั้น แถมยังต้องมาเสียค่านายหน้าให้กับนายนายคนเมียนมาร์ที่มาพักอาศัยอยู่ในโรงงานและยังมีปัญหากับเพื่อนแรงงานด้วยกัน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับนายจ้าง ซึ่งเพื่อนๆที่ขอไปนั้นบางคนก็มีญาติหางานใหม่ไว้รอแล้ว
                ทางด้านของนายอู หนึ่งในคนงานที่จะยังคงทำงานต่อไปกับนายจ้างรายเดิม บอกว่า ตนเองทำงานที่นี่มาได้ 2 ปีกว่าแล้ว ไม่เคยมีปัญหาใดๆ กับนายจ้าง ทำงานได้วันละไม่ต่ำกว่า 300 บาท อีกทั้งนายจ้างยังมีที่พักอาศัยให้ฟรี และไม่เคยกักขังหน่วงเหนี่ยวคนงาน หรือทำร้ายร่างกายแต่อย่างใดทั้งสิ้น ใครอยากออกไปข้างนอกก็ไปได้ จะซื้ออะไรมากินข้างในก็ได้ แต่ถ้าไปดึกมากก็ให้บอกกับนายจ้างไว้ก่อนเพื่อที่จะได้เอากุญแจไปด้วย ส่วนเรื่องของการทะเลาะวิวาทจะเกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานต่างด้าวด้วยกันเองโดยมักจะเกิดกับผู้ที่เมาสุรา ซึ่งตนเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเพื่อนๆ จึงได้คิดที่จะออกไป
                ส่วนทางด้านของนายบุญมา สุจินดากุล เจ้าของโรงงานบอกว่า ที่โรงงานแห่งนี้มีลักษณะเป็นแบบล้งแกะกุ้ง ซึ่งมีการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ในลักษณะการจ้างงานแบบรายเหมา แต่ละวันจะหางานมาให้แรงงานได้ทำไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมง โดย 8 ชั่วโมงแรกจ้างแบบรายเหมาคือ ทำมากก็ได้มาก ทำน้อยก็ได้น้อย ใครอยากไปพักตอนไหนก็ได้เพราะมีที่พักอยู่ในรั้วโรงงาน ส่วน 4 ชั่วโมงหลังจะคิดให้เป็นแบบโอที นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการที่ให้กับแรงงานต่างด้าวคือ ให้ชุดทำงานฟรี ให้ที่พักฟรี และ ออกเงินค่าทำบัตรสีชมพูให้ฟรีอีกด้วย โดยกำลังจะพาไปต่อบัตรสีชมพูรอบใหม่ในวันที่ 26 พฤษภาคม2558 ที่จะถึงนี้ ส่วนนายนายที่แรงงานเมียนมาร์ไม่พอใจในพฤติกรรมและพูดถึงนั้น ได้ออกไปข้างนอกยังไม่กลับเข้ามา ซึ่งนายนายก็เป็นเสมือนลูกจ้างคนหนึ่ง แต่ทำงานแบบไม่ขอรับเงินโดยขอแลกกับการเปิดร้านขายของแห้งตรงที่พักอาศัยให้กับแรงงานด้วยกัน หรือถ้าใครไม่มีเงิน หรือต้องการเงินไปซื้อของนายนายก็จะให้ยืมเงินไปก่อน พอสิ้นเดือนก็ให้ไปหักกันเอง แต่บางคนก็ขอให้ทางโรงงานฯ หักให้เพราะว่ามีการยืมเงินกันไปเป็นจำนวนมาก สำหรับแรงงานเมียนมาร์ที่ไม่พอใจกับค่าจ้างที่ได้นั้น ก็น่าจะมาจากการที่ทำได้น้อยเพราะหลบไปพักบ่อยๆ เมื่อเงินแต่ละวีคที่ออกมาได้น้อยก็เกิดความไม่พอใจ ประกอบกับทางโรงงานยังมีกฎอยู่อีกหนึ่งข้อที่ได้แจ้งให้ทราบก่อนเข้าทำงานแล้วคือ ถ้าใครที่ตั้งใจทำงานก็จะให้พักฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายมีเพียงค่าน้ำค่าไฟที่ต้องจ่ายกันเองวันละ 13 บาท แต่ถ้าใครที่ไม่ตั้งใจทำงานหยุดงานบ่อยหรือหลบไปพักบ่อยๆ ก็จะต้องจ่ายค่าห้องเองเดือนละ 300 บาท ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้แรงงานเกิดความไม่พอใจ ส่วนเรื่องของการทะเลาะวิวาทนั้นจะเกิดขึ้นกับกลุ่มแรงงานด้วยกัน
                สำหรับในส่วนของการเรียกเก็บค่านายหน้าโดยนายนายจะเป็นคนเรียกเก็บตามคำบอกเล่าของแรงงานที่ต้องการจะออกไปจากที่ทำงานเดิมนั้น ทางแรงงานที่สมัครใจอยู่ต่อ กับ ทางด้านของเจ้าของโรงงานก็บอกว่าไม่เคยมีเพราะนายนายจะเป็นเพียงคนที่คอยประสานเพื่อนๆ ที่ต้องการจะหางานทำให้เข้ามาสมัครงานที่โรงงานเท่านั้น โดยจะเลือกเฉพาะคนที่มีบัตรสีชมพูอยู่แล้ว แต่นายนายจะมีปัญหากับแรงงานกลุ่มหนึ่งก็คือ การให้ยืมเงินซื้อของหรือการให้ลงบัญชีซื้อของไว้แล้วไม่ยอมจ่ายเงินคืนกันเมื่อเงินค่าแรงออก แต่ทั้งนี้ก็ต้องเรียกนายนายมาให้ข้อเท็จจริงด้วยตนเองอีกครั้ง

                ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ แก่นายบุญมา สุจินดากุล เจ้าของโรงงาน เพราะต้องรอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทั้งจากเอกสารของทางโรงงาน การชี้แจงของเจ้าของโรงงาน และจากการให้ข้อมูลของแรงงานสัญชาติเมียนมาร์ทั้งหมด แต่เบื้องต้นอาจจะมีความผิดในฐานการจ่ายค่าแรงไม่ตรงตามการจ้างงาน ซึ่งเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 100,000 บาท.









0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น