pearleus

วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บทความรู้ เรื่อง “เบื้องต้นสำหรับบุคลากรที่ดูแลเด็กและครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวี” ตอนที่ 2

เราจะป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้อย่างไร
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ทราบสภาวะการติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เช่น มีประวัติการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น มีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย มีประวัติรักร่วมเพศหรือรักสองเพศ หญิงค้าประเวณี เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะนำพาไปสู่การมีเพศสัมพันธ์อย่างฉาบฉวย หรือไม่ใช้ถุงยางอนามัย เช่น ขณะมึนเมา หรือใช้ยาเสพติด
- หากมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน หรือแผลบริเวณอวัยวะเพศ ควรเข้ารับการรักษา เนื่องจากโรคเหล่านี้ เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้
- ไม่เสพยาเสพติด โดยเฉพาะชนิดฉีดเข้าเส้น หากมีความจำเป็นต้องฉีดยาใด ๆ ไม่ควรใช้เข็มฉีดยา และกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ไม่ใช้มีดโกน ที่โกนหนวด แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
- หญิงที่ประสงค์จะตั้งครรภ์ หรือหญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี หากพบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ในมารดาช่วงตั้งครรภ์และในทารกแรกเกิด ร่วมกับงดกินนมมารดา สามารถลดอัตราการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกได้เป็นอย่างมาก
โรคเอดส์ และการติดเชื้อเอชไอวี สามารถรักษาได้หรือไม่
ในปัจจุบันมียาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งสามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวี จนทำให้ผู้ป่วยแข็งแรงใกล้เคียงกับคนปกติได้ แต่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด จึงจำเป็นต้องกินยารักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การเริ่มยาต้านไวรัสเอชไอวี ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์  การกินยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ และตรงต่อเวลา มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะส่งผลให้มีระดับยาในกระแสเลือดสม่ำเสมอ สามารถลดจำนวนเชื้อไวรัสเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาวะใดๆ ที่ทำให้ระดับยาในเลือดลดลง เช่น การขาดยา รับประทานยาไม่ตรงเวลา หรือไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่ง จะทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้โรคต่าง ๆ กำเริบง่ายขึ้น



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น