pearleus

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมบูรณาการการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งปี 2558 - 59พร้อมเร่งรัดติดตามการจัดทำแผนชุมชนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

       เมื่อ 19 ต.ค. 58 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 1 กระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมบูรณาการการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งและพิจารณากำหนดกรอบแนวทางการจัดทำแผนชุมชน เพื่อเร่งรัดติดตามการดำเนินงานการสำรวจความต้องการและจัดทำแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤติภัยแล้งปี 2558 -  59 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามมาตรการที่ 4 ในการสำรวจความต้องการและจัดทำแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และรวบรวมส่งให้คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติ ภัยแล้ง ปี 2558 – 59 เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาช่วยเหลือต่อไป
          เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดและมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน กระทรวงมหาดไทยจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ และหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมประชุมหารือถึงกรอบการดำเนินงานในการสำรวจความต้องการและจัดทำแผนชุมชน โดยในวันนี้ กระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอกรอบแนวทางการจัดทำแผนชุมชน เพื่อให้ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือถึงรายละเอียดต่างๆ ที่จะดำเนินการต่อไป โดยมีการกำหนดเป้าหมายและวิธีดำเนินงานภายใต้ โครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งมีเป้าหมายสำคัญ 5 ประการ คือ 1. การน้อมนำหลักการทรงงาน ระเบิดจากข้างในคือ ให้ประชาชนตัดสินใจทำด้วยตนเองอย่างเหมาะสมและยั่งยืน 2. เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล 3.สร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนอาชีพ 4. ลดความขัดแย้งจากการใช้น้ำของเกษตรกรในพื้นที่ และ 5. สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชน และกำหนดหลักการสำคัญว่า ประชาชนต้องสมัครใจในการเข้าร่วมโครงการ และดำเนินการตามแนวทาง ประชารัฐ โดยทีมประเทศไทยในพื้นที่มีประชาชนและราชการ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจในการดำเนินการด้วยตนเอง
          สำหรับวิธีการดำเนินงานในการจัดทำแผนชุมชน ได้กำหนดให้หน่วยงานระดับกระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่นๆ ร่วมกันจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ น้ำ พื้นที่ และข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ หรือสินค้า และบริการที่เป็นความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลให้ทีมประเทศไทยประจำตำบล/หมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งมีผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ภาคประชาชน ร่วมกับ ข้าราชการประจำตำบล นำไปเสนอต่อประชาชนในพื้นที่เพื่อประกอบการตัดสินใจในการจัดทำแผนชุมชน จากนั้นกระทรวงมหาดไทยจะรวบรวมข้อมูลที่ได้รับจากในพื้นที่เสนอผ่านขึ้นมาตามลำดับตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในส่วนกลางเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
          นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงขอบเขตตัวอย่างประเภทโครงการที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนกับโครงการความช่วยเหลืออื่นๆ โดยกำหนดกรอบการเสนอโครงการประเภทการจัดการแหล่งน้ำการเกษตรกรของชุมชน การผลิตด้านการเกษตร การแปรรูปการเกษตร ด้านเศรษฐกิจพอเพียงสร้างแหล่งอาหารในชุมชน การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ เป็นต้น รวมถึงได้หารือถึงแนวทางการวางแผนด้านการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตด้านการเกษตรที่จะออกสู่ท้องตลาดในช่วงเวลาต่อไป เพื่อการบริหารจัดการโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างครบวงจร และสอดคล้องกับการกำหนดโซนนิ่งภาคการเกษตรที่จะมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่อีกด้วย


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น