โดยน้อมนำหลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” ให้ประชาชน
คิด เลือก ตัดสินใจและทำด้วยตนเอง
พร้อมดึงภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ร่วมดำเนินการ
เมื่อ 3 พ.ย.58 ณ ห้องประชุม 1 กระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช
ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานการประชุมผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล video
conference เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกรอบแนวทางการดำเนินงานตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้งปี
2558 - 59 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย
ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัด
ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด
ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด
นายอำเภอ เกษตรกรอำเภอ และภาคเอกชน/ผู้ประกอบการที่รับซื้อผลผลิตการเกษตรในพื้นที่จังหวัดเข้าร่วมประชุม
โดยในที่ประชุมฯ
ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงการดำเนินงานตามมาตรฐานที่ 4 ตามที่คณะรัฐมนตรี
ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ
เพื่อสำรวจความต้องการของประชาชนตามโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง
เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด
โดยการดำเนินงานที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้มีการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ
ภาคเอกชน เพื่อหารือในการจัดทำข้อมูลสำคัญในการดำเนินงาน เช่น
ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่และประชาชนที่ประสบภัยแล้ง การเพาะปลูก
ลักษณะการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ข้อมูลเกี่ยวกับราคา
จำนวนสินค้า และตลาดงานบริการที่ต้องการในพื้นที่จังหวัด
กลุ่มจังหวัดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งให้จังหวัดดำเนินการต่อไป
และขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำคู่มือการดำเนินงานตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง
ปี 2558/59 เสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานไว้ 3 ประการ คือ 1. น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องระเบิดจากข้างในที่ทรงให้ประชาชน
คิด เลือก ตัดสินใจ แก้ไขปัญหา
และดำเนินงานตามความสมัครใจของตนเองให้เหมาะสมและยั่งยืน
โดยถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในการน้อมนำแนวทางพระราชทานในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
2. เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล
ลดปัญหาความขัดแย้งจากการแย้งน้ำในพื้นที่ และ 3. สร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนอาชีพและโครงสร้างการผลิตที่เหมาะสมโดยเป็นไปตามความสมัครใจของประชาชน
โดยมีหลักการดำเนินงาน คือ การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน
และภาคธุรกิจเอกชนมาร่วมกับภาคราชการในรูปแบบ "ประชารัฐ"
เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และสนับสนุนงบประมาณในรูปแบบเงินอุดหนุน
ผ่านองค์กรภาคประชาชน
โดยมีหน่วยงานราชการเป็นผู้กำกับติดตามให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเพื่อความโปร่งใส
โดยคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นของการดำเนินโครงการและการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน
ภายหลังจากที่กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งแนวทางการดำเนินงานและข้อมูลสำคัญให้ทุกจังหวัดทราบเพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานและถือปฏิบัติแล้ว
จังหวัดจะทำหน้าที่ตรวจสอบเปรียบเทียบข้อมูลจากส่วนกลาง
และข้อมูลที่เป็นความต้องการของพื้นที่ โดยจัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งระดับจังหวัด” ซึ่งจะมีหน่วยงานราชการ
ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม โดยแบ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนการผลิต
มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
ภาคประชาชนที่มีองค์ความรู้ด้านการเกษตรและการประกอบอาชีพ ทำหน้าที่สนับสนุนปัจจัยการผลิต
ให้ความรู้ และหาช่องทางลดต้นทุนการผลิตหรือการเพาะปลูกพืชชนิดใหม่ และ
ฝ่ายสนับสนุนการตลาดมีกระทรวงพาณิชย์ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง หอการค้า
หรือองค์กรธุรกิจเอกชน ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลราคา และปริมาณสินค้า
หรืองานบริการที่ตลาดต้องการ รวมทั้งแสวงหาข้อมูลการตลาดใหม่ๆ
เพื่อจัดทำข้อมูลต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดที่ถูกต้อง
ส่งให้อำเภอและทีมประเทศไทยระดับตำบล
นำเสนอให้แก่เกษตรกรได้นำไปประกอบการตัดสินใจที่จะเลือกปลูกพืชชนิดใหม่
หรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น ตามข้อมูลที่ทีมประเทศไทยระดับตำบลนำเสนอทำให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจว่าผลผลิตที่ได้จากการปรับเปลี่ยนจะมีตลาดรองรับ
และยอมรับคำแนะนำ หรือทำตามแนวทางที่ราชการขอความร่วมมือ
ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาความขัดแย้งในการแย้งน้ำหมดไปและเป็นไปตามเป้าหมายในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร
จากนั้น
ทีมประเทศไทยระดับตำบลจะรวบรวมจัดทำเป็นแผนพัฒนาอาชีพฯ
รวบรวมส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองระดับอำเภอ
เสนอให้จังหวัดเพื่อรวบรวมโครงการที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบ
ส่งให้คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2558-59 ต่อไป
โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานสำรวจความต้องการชุมชนและเกษตรกร 30 วันเริ่มตั้งแต่วันนี้ (3พ.ย.58) - 3 ธันวาคม 2558 แบ่งเป็น 2 ระยะ
คือ ระยะแรก โครงการ/กิจกรรม
การปลูกพืชใช้น้ำน้อยและอาศัยความชื้นของดินต้องดำเนินการภายในเดือนธันวาคม 2558
อำเภอต้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จแล้ว
ส่งคณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัดภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน
2558 และระยะสอง โครงการ/กิจกรรม ด้านการเกษตรอื่น ๆ
อาชีพนอกภาคการเกษตรงานหัตถกรรม และการจ้างงาน ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27
พฤศจิกายน 2558
ทั้งนี้
คาดว่าชุมชนจะเริ่มดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง
ปี 2558/59 ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์
– พฤษภาคม 2559 ในกรณีโครงการ/กิจกรรม
การปลูกพืช ใช้น้อยสามารถจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนธันวาคม 2558
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น