เมื่อ
26 พ.ย. 58
เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายสุธี มากบุญ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย
ให้แก่ผู้ปกครองท้องที่ (กำนันและผู้ใหญ่บ้านของจังหวัดปทุมธานี)
และผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคกลาง 25 จังหวัด โดยภาคเช้าเป็นการมอบนโยบาย
แก่ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคบ่ายจะเป็นการมอบนโยบายแก่กำนัน
ผู้ใหญ่บ้าน
ในภาคเช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ได้มอบนโยบายแก่นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
จำนวน 4,002 คน จากท้องถิ่น 2,001 แห่ง
โดยกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย
เป็นกระทรวงเดียวที่สามารถยึดโยงงานของรัฐบาลลงไปสู่ในพื้นที่ โดยมีกลไกของคนมหาดไทยในการทำงาน
ในด้านความมั่นคง เรามีท้องที่ มีฝ่ายปกครอง
ด้านการพัฒนาความเจริญ เรามีท้องถิ่น มีอปท. ทุกรูปแบบ ดังนั้น
ท่านทุกคนจึงมีความสำคัญที่จะนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การพัฒนาในพื้นที่
ซึ่งการที่เราจะมีประชาธิปไตยที่ดี เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ
การทำงานของท้องถิ่นจึงต้องใช้ทั้งความรู้
และความซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใสเป็นหลักสำคัญ ต้องเก่ง ต้องดี มีความรับผิดชอบ
เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
ซึ่ง คนของท้องถิ่น ถือเป็นคนที่รู้พื้นที่ รู้สภาพภูมิสังคมมากที่สุด
ดังนั้น การบริหารจัดการท้องถิ่น จึงต้องยึดโยงกับแผนพัฒนาจังหวัด
การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและศักยภาพของพื้นที่
มีการใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ด้วยความสุจริตโปร่งใส
มีมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล
สำหรับวาระสำคัญที่อยากจะฝากคือ 1. การปกป้อง และ
เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจ
ของคนไทยทั้งชาติ
โดยขอให้ช่วยกันสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในท้องถิ่นให้ทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณ
และน้อมนำแนวทางพระราชดำริ และหลักการทรงงาน หลักปรัชญาเศษรฐกิจ
ถ่ายทอดให้ถึงพี่น้องประชาชน
ให้สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงขอให้ช่วยกันปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
2.
การสร้างความปรองดองสมานฉันท์
เน้นย้ำในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ อย่าให้ประชาชนขัดแย้ง
จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ต้องทำให้ประชาชนยอม
รับความคิดเห็น
หรือความชอบที่อาจแตกต่างกันได้ แต่ต้องไม่เกิดความขัดแย้ง
และต้องไม่ให้มีการยุยงปลุกปั่น ประชาชน หรือมีการทำผิดกฎหมาย
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ขอให้ท่านทำในสิ่งที่ดี
ต้องไม่เข้าไปมีส่วนในการปลุกระดมมวลชนอย่างเด็ดขาด
โดยขอให้ใช้วิธีแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง
และให้เอาใจใส่ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่
ยกตัวอย่าง การแก้ไขปัญหายาเสพติด
ท่านต้องรับผิดชอบในพื้นที่ของตนเองโดยให้ยึดถือตามแนวทางการลด Demand (อุปสงค์) ลดปริมาณผู้เข้าสู่การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
และนำคนออกจากวงจรการกระทำผิด และลด Supply (อุปทาน)
โดยบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร
และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันยาเสพติดในพื้นที่ของตนเอง
เรื่องการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของ อปท. ในภาพรวมของประเทศ
ขอให้ดูตัวอย่างจากต่างประเทศที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ
สำหรับประเทศไทย
เราจะต้องสร้างจิตสำนึกในการช่วยกันลดปริมาณขยะในพื้นที่ลงให้ได้
ซึ่งอนาคตจะมีการรวมกลุ่มพื้นที่ (Clusters) ในการจัดการขยะมูลฝอยร่วมกัน
และจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ (Law) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอย
จึงขอให้เตรียมความพร้อมดำเนินการอย่างเป็นระบบ
สุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ได้ขอบคุณและให้กำลังใจผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกคนที่ได้ร่วมกันทำงานด้วยความเสียสละ
อดทน ทุ่มเท และมุ่งมั่น
ในการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถเชื่อว่าท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นคนดี
เพราะมาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนที่เลือกคนดีมาทำงาน
และขอให้ทุกคนช่วยพิสูจน์ตนเอง โดยช่วยกันทำให้ประเทศชาติเกิดความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
และสร้างความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน
ในส่วนของ นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ได้เน้นย้ำการทำงานของท้องถิ่นทุกภารกิจ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น
การจัดเก็บภาษี การปฏิบัติตามแผนการกระจายอำนาจ การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
โดยเฉพาะการขอความร่วมมือจากประชาชนในการเปลี่ยนการเพาะปลูกมาเป็นพืชใช้น้ำน้อย
และขอให้ท้องถิ่นช่วยสนับสนุนการทำงานต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย
ซึ่งขณะนี้งบประมาณในการส่งเสริมความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน
เริ่มลงไปสู่พื้นที่แล้ว จึงอยากจะเห็นทุกพื้นที่ได้ทำงานเป็นทีม
โดยสนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด ทีมประเทศไทย และทีมประชารัฐ
ด้วยความเอื้ออาทร ระหว่าง ภูมิภาค ท้องที่ และท้องถิ่น
สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน ด้วยความรู้รักสามัคคี เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
ในส่วนของการดูแลพื้นที่ ขอให้ช่วยดูแลเรื่องความสะอาด
ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง แม่น้ำลำคลอง สิ่งแวดล้อมต่างๆ
ตามโครงการคลองสวย น้ำใส อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยว
ร่วมกับฝ่ายปกครองและตำรวจในพื้นที่
ในด้านการช่วยเหลือประชาชน ผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส
ขอให้ดำเนินโครงการของท้องถิ่นที่เพื่อสร้างโอกาส อาชีพ
และขยายโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้
และพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในทุกระดับและส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ไม่มีหนี้สิน ใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
และช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสมด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
การลดต้นทุนการผลิต การช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยการผลิต เป็นต้น
ด้านการบริหารจัดการ เน้นการทำงานเป็นทีม และมีการบริหารงาน
"เชิงสร้างสรรค์" มีความสุจริตโปร่งใส เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย
และส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น
และขอให้ร่วมขับเคลื่อนศูนย์ดำรงธรรมท้องถิ่น โดยผู้บริหาร อปท.
ต้องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเชิงรุก ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจ
เข้าถึงประชาชน เพื่อให้ปัญหายุติให้ได้ในระดับท้องถิ่น
โดยใช้หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เข้ามาแก้ปัญหา
รวมทั้งขอให้ช่วยดูแลและร่วมพัฒนาสินค้า OTOP เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น
มีคุณภาพ มีตลาดรองรับ สามารถนำไปขายในตลาดต่างประเทศ
ขอฝากให้ท้องถิ่นเข้าไปช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเปิดตลาดชุมชนในพื้นที่
เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง ประชาชนมีอาชีพ
มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับการมอบนโยบายในภาคบ่ายนั้นจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ
ประกอบด้วย กำนัน ทุกตำบล จำนวน 1,828 คน ผู้ใหญ่บ้านของจังหวัดปทุมธานี
จำนวน 407 คน โดยมีวาระสำคัญด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ
อาทิเช่น การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ลดความขัดแย้งของประชาชาชนในพื้นที่
การรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
การปราบปรามผู้มีอิทธิพล การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์
การเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งปี 2558/59 โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
และการดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) เป็นต้น
ทั้งนี้ จะมีการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกลเพื่อให้นายอำเภอ
และผู้ใหญ่บ้านทุกคนในพื้นที่ภาคกลาง ได้เข้าร่วมรับชมโดยพร้อมเพรียง ณ
สถานที่ที่แต่ละจังหวัดได้จัดเตรียมไว้ด้วย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น