pearleus

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

กระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ผู้ว่าฯ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ

           เมื่อวันที่  17 พ.ย. 58 นายกฤษฎา  บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ด้วยในห้วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และตาก มักประสบกับปัญหาไฟป่าและวิกฤตหมอกควัน ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากสภาพภูมิประเทศ และสภาพอากาศที่เกิดความแห้งแล้ง ประกอบกับพฤติกรรมการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพืช และการเผาตอซังจากการเกษตร รวมทั้งหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน รวมทั้งบดบังทัศนวิสัย ก่อให้เกิดปัญหาต่อการคมนาคมทั้งทางบกและทางอากาศ และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
           ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีระบบ และมีการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีหนังสือสั่งการด่วนที่สุดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ให้ดำเนินการดังนี้ 1) การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้งแผนระดมพลดับไฟป่าของจังหวัดให้เป็นปัจจุบันสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และให้เร่งสำรวจ ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย ตลอดจนทรัพยากรกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งรณรงค์ขอความร่วมมือ และควบคุมการเผาขยะมูลฝอยในเขตชุมชน และห้ามเผาหญ้าในบริเวณริมทางโดยเด็ดขาด สำหรับในเขตพื้นที่เกษตรกรรมให้มอบหมายนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่องค์ความรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบและเข้าใจมาตรการลดการเผาในเขตพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งส่งเสริมการไถกลบเศษวัสดุภาคการเกษตรแทนการเผา โดยจัดแปลงสาธิตฯ ประจำตำบล เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการให้กับกลุ่มเกษตรกร พร้อมทั้งสนับสนุนความรู้ทางวิชาการ
           2) การควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ให้ใช้มาตรการควบคุม ป้องกัน แจ้งเตือนสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมในการระงับเหตุไฟป่า โดยประสานและสนธิกำลังในพื้นที่ ร่วมกับ ท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (อปพร.) ตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยทหารในพื้นที่ ในการปฏิบัติการ กรณีเกิดวิกฤติไฟป่า ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้อย่างจริงจัง พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ กวดขัน ตรวจตรา ลาดตระเวน ดูแล ไม่ให้มีการบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด และให้เตรียมพร้อมเครื่องมือ ยานพาหนะ อุปกรณ์ดับเพลิง กู้ภัย ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อเกิดไฟป่า และจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
           3) เมื่อเกิดสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันขึ้นในพื้นที่ ให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด เพื่ออำนวยการ สั่งการ และระดมสรรพกำลัง พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรสาธารณกุศลในพื้นที่ เพื่อให้การสนับสนุนและร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้น โดยขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ งดเว้นการจุดไฟใกล้บริเวณแนวป่าโดยเด็ดขาด และรณรงค์ให้ประชาชนทราบแนวทางการป้องกัน การปฏิบัติตนเมื่อเกิดไฟป่า ผลกระทบจากไฟป่าและหมอกควันที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายและการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิด 
           ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้จังหวัดดำเนินการตามแผนและมาตรการต่างๆ โดยบูรณาการประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานภายในจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันเฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่จะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินทั้งของประชาชน ราชการ รวมถึงผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น