เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 58 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมชี้แจงและซักซ้อมแนวทางการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล ( Video Conference) ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสนับสนุนการติดตามการดำเนินงานโครงการตามมาตรการดังกล่าว ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจังหวัด (ป.ป.ช.จังหวัด) โดยมีผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกอบด้วย นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. พร้อมคณะทำงาน และ คณะผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย อธิบดีทุกกรม เข้าร่วมประชุม นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ กระทรวงมหาดไทย จึงได้เชิญผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสนับสนุนการติดตามการดำเนินงานโครงการตามมาตรการสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทั้ง 7,255 ตำบล กำลังดำเนินการอยู่ และการประชุมในวันนี้ได้ถ่ายการประชุมผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกลไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และถ่ายทอดผ่านระบบ Dopa WEB Conference ไปยังนายอำเภอทุกแห่ง เพื่อให้ได้รับรู้ถึงแนวทางการปฏิบัติ และรับทราบกลไกในการตรวจสอบความโปร่งใสในการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้จังหวัดได้ยึดถือปฏิบัติ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจติดตามโครงการ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ ป.ป.ช.จังหวัด ได้ร่วมติดตามการดำเนินงานตามโครงการในพื้นที่ เพื่อให้ทุกโครงการมีความโปร่งใส คุ้มค่า ตรงตามความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีการคอรัปชั่นเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด ในโอกาสนี้ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. ได้กล่าวว่า นับเป็นโอกาสที่ดีที่กระทรวงมหาดไทย ได้เชิญ ป.ป.ช. เข้าร่วมประชุมหารือด้วย สืบเนื่องจากทั้งกระทรวงมหาดไทยและ ป.ป.ช. ได้มีการจัดทำ MOU ร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อส่งเสริมความร่วมมือตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดปัญหาการทุจริตของประเทศให้น้อยลง ประกอบกับโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน และมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมทั้งเป็นที่สนใจทั้งด้านการบริหารจัดการและที่มาของโครงการต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และมีการดำเนินงานที่โปร่งใสและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด ปัจจุบันโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนดังกล่าว ประกอบด้วย 1) โครงการมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน งบประมาณ 3,212.90 ล้านบาท 2) โครงการสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร งบประมาณ 254 ล้านบาท และ 3) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) งบประมาณ 36,275 ล้านบาท ซึ่ง ป.ป.ช.จังหวัดทุกจังหวัดจะลงไปให้คำปรึกษาแนะนำติดตามการดำเนินงาน และให้ข้อสังเกตซึ่งเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันการทุจริต เสริมสร้างทัศนะคติค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งดำเนินการให้ประชาชน หรือกลุ่มบุคคลมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (13) ซึ่งจะได้นำร่องในโครงการตามมาตรการดังกล่าว โดยจะใช้วิธีการเลือกโครงการที่สุ่มเสี่ยง และมีการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก สำหรับการประชุมหารือร่วมกันในครั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน โดยจะมีการร่วมมือและบูรณาการทำงานร่วมกัน ดังนี้ 1.ด้านการประชาสัมพันธ์ ได้มีการกำหนดรูปแบบ และข้อความในการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ โดยให้ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การเผยแพร่ทางวิทยุ เสียงตามสาย หรือวิทยุท้องถิ่นของชุมชน เป็นต้น 2.การติดตามสังเกตการณ์ ได้กำหนดขอบเขตและแนวทางการตรวจสอบ โดยวิธีการสุ่มตรวจ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในจังหวัด โดยจะเน้นในเรื่องที่มีการดำเนินการจริง และมีผลการดำเนินการสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับหรือไม่ พร้อมทั้งให้จังหวัดรวบรวมและจัดส่งข้อมูลโครงการทั้งหมดในพื้นที่ ส่งให้สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินงานโครงการตามมาตรการดังกล่าว เนื่องจากเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชน จึงให้จังหวัดดำเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณลงในพื้นที่ รวมทั้งเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณตามโครงการให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลากำหนด (31 ม.ค. 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น