กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ดำเนินการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”
ให้แก่สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มุ่งเน้นกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนา
นายจรินทร์ จักกะพาก
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเรื่อง ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More
Knowledge) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ การคิด
วิเคราะห์ และมีคุณภาพการเรียนที่ดีขึ้น ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ได้แจ้งแนวทางเพื่อปรับเวลาเรียนและพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์และมีคุณภาพการเรียนที่ดีขึ้น
รวมถึงมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน
เพิ่มเวลารู้” และ Smart
Trainer : ผู้นำการนิเทศการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”
ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์
และครูของสถานศึกษาที่ร่วมนำร่องในการดำเนินการ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้มีความรู้
ความเข้าใจในการบริหารจัดการเวลาเรียน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะที่ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริม
สนับสนุน กำกับดูแล
ประสานงานการจัดการศึกษาให้สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จึงแจ้งแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียน
ในรูปแบบ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่มีการปรับปรุงเนื้อหาภายในของแต่ละวิชา
โดยไม่กระทบกับหลักสูตร
เนื้อหาการเรียนการสอน ดัชนีที่ใช้ประเมิน
ตลอดจนการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ (NT)
และการทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net)
โดยจะมีการจัดโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ ให้มีเวลากิจกรรมพัฒนาทักษะอย่างน้อย 8
ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีการจัดฝึกอบรมครู (Workshop)
และจัดให้มีทีม Smart Trainers เพื่อกำกับดูแลและให้คำแนะนำในการจัดการเรียนการสอน
ทางด้านรูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ จะมุ่งเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่างๆ
คือ 1. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (กิจกรรมบังคับตามหลักสูตร)
ที่ประกอบด้วยกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน
และกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมและสาธารณประโยชน์ 2. Head
หรือกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะการเรียนรู้ (Cognitive)
ประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมพัฒนาความสามารถด้านการสื่อสาร
ด้านการคิดและการพัฒนากรอบความคิดแบบเปิดกว้างด้านการแก้ปัญหา พัฒนาความสามารถ ด้านการใช้เทคโนโลยี พัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้
8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ 3. Heart หรือกิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม
(Affective) ประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกในการ ทำประโยชน์ต่อสังคม
มีจิตสาธารณะและการให้บริการต่างๆ ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม
ความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม (มีวินัย ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ อดทน
มุ่งมั่นในการทำงาน กตัญญู) มีความรัก
ความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และหวงแหนสมบัติของชาติ 4. Hand หรือกิจกรรมสร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต (Psychomotor)
ประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมที่ตอบสนองความสนใจ ความถนัด
และความต้องการของผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกการทำงาน ทักษะอาชีพ
ทรัพย์สินทางปัญญา อยู่อย่างพอเพียง
และมีวินัยทางการเงิน พัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต
สร้างเสริมสมรรถนะทางกาย
ทั้งนี้ จะมีการประเมินผลการดำเนินการในช่วงระหว่างภาคเรียน
2 ครั้ง และหลังปิดภาคเรียน 1 ครั้ง และจะมีการศึกษาแนวทางการดำเนินการจากโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ
เพื่อขยายผลการดำเนินการไปยังโรงเรียนอื่นๆ ตลอดจนศึกษาปัญหาและอุปสรรค
เพื่อปรับปรุงการดำเนินการต่อไป
ขอบคุณภาพ คณะทำงาน รมช.ศธ.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น