pearleus

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้...ต่อการสื่อสารมวลชน

"...งานสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะงานหนังสือพิมพ์ เริ่มขึ้นในประเทศของเราช้านานแล้ว และมีประวัติการณ์อันน่าสนใจมาแต่ต้น นักหนังสือพิมพ์ไทยทุกรุ่นทุกสมัย พยายามที่จะทำหน้าที่บริการประชาชน เพื่อให้ประชาชนยอมรับนับถือผลงานที่ประจักษ์แล้ว ควรจะเป็นกำลังใจ ให้แต่ละคนทำงานและทำตัวให้ดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้ควรกับความยกย่องนับถือของมหาชน ทั้งควรกับหลักการและจรรยาอันสูงในอาชีพของนักหนังสือพิมพ์.."
           "ข้าพเจ้าขอฝากความคิดไว้สำหรับท่านทั้งหลายว่า ทุกคน ไม่ว่าจะมีอาชีพใดต่างมีหน้าที่ร่วมกันอยู่ประการหนึ่งเหมือนกันหมด คือหน้าที่ที่จะทำตัวให้เป็นคนมีประโยชน์และมีค่าต่อบ้านเมืองและส่วนรวม ได้แก่การทำงานด้วยความตั้งใจจริง ประพฤติสุจริตและตั้งตนอยู่ด้วยคุณธรรม เพื่อให้ผลการปฏิบัตินั้นบังเกิดเป็นความสุขความเจริญ และความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง
                "นักหนังสือพิมพ์เป็นผู้เสนอข่าวสาร ความรู้ ความคิดเห็น รวมทั้งเป็นปากเสียงแทนผู้อื่น ทุกเรื่องทุกสิ่งที่ท่านนำลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ แพร่หลายไปได้โดยรวดเร็วและกว้างขวางอย่างไม่มีขอบเขต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จักต้องปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจ ด้วยความพิจารณาที่รอบคอบ ด้วยความสุจริตยุติธรรม และด้วยความสำนึกในความรับผิดชอบเป็นพิเศษอยู่เป็นนิตย์..."
                พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในหลวงรัชกาลที่ ๙  ....พระราชทานแก่สมาชิกสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยณ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันเสาร์ ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๔
                พวกเรา..การเมืองชุมชน..ขอน้อมนำและรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม.....ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น อย่างหาที่สุดมิได้...ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ...ข้าพระพุทธเจ้า..หนังสือพิมพ์การเมืองชุมชน..

*****************
พระองค์..ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสาร


                พระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดี กินดี
                พระองค์ ทรงสนพระทัยด้านการสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงทดลองต่อสายไฟพ่วงขนานกับลำโพงขยาย ของเครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน ยี่ห้อ 'Centrum' จากห้องที่ประทับพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในบริการเสียงตามสายไม่น้อย..." (สุชาติ เผือกสกนธ์, วันสื่อสารแห่งชาติ : ๒๕๓๐)
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ พระอัจฉริยะและพระอุตสาหะทั้งมวล เพื่อราษฎรในทุกภูมิภาค พระองค์ทรงมีดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือสามารถรับส่งได้ไกลยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้คือการสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่น ในระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า มีผู้ใดที่กำลังป่วยเจ็บจำเป็นต้องบำบัดรักษา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จดูแลตรวจรักษาทันที ในบางรายที่มีอาการป่วยหนัก จำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพ มหานครโดยเร็ว หากมีเวลาเพียงพอ พระองค์ท่านจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้ป่วยเจ็บส่งยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง
                นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณ หรือ Repeater ซึ่งเชื่อมต่อทางวงจรทางไกลของ องค์การโทรศัพท์ฯ ให้มูลนิธิแพทย์อาสาฯ (พอ.สว.) นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกล
                ในเรื่องการปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงพระราชทาน  ระยะแรกๆ ได้ประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลัน เนื่องจากยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร กล่าวคือฝนไม่ตกในเป้าหมายบ้าง ตกน้อย หรือไม่ตกตามที่คิดบ้าง พระองค์ ได้ทรงสดับตรับฟังข่าวการปฏิบัติการฝนเทียมทุก ครั้ง และทรงทราบถึงปัญหาสำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน
                ยังทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัย รวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมาก หรือที่เรียกว่า VHF (วี.เอช.เอฟ) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ
                ประการแรก เพื่อที่จะได้ใช้งานกับวิทยุส่วนพระองค์ ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสาธารณภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน เรื่องไฟไหม้ เรื่องน้ำท่วม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทรงช่วยเหลือได้ทันท่วงที
                ประการที่สอง เพื่อที่จะพระราชทานให้แก่หน่วยราชการต่างๆประการที่สาม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถและตั้งใจจริง ได้ใช้ความอุตสาหวิริยะในการพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารขึ้นใช้เองภายในประเทศ
                นอกเหนือจากวิทยุสื่อสารแล้ว ในเรื่องของเทเล็กซ์พระองค์ทรงสนพระทัยอยู่ไม่น้อย และสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยทรงขาดคือ การพระราชทานพรปีใหม่ นอกจากจะทรงมีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยทางวิทยุและโทรทัศน์ทุกแห่งแล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพรทางเทเล็กซ์สม่ำเสมอทุกปี  จนสมัยใหม่ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์บัตรอวยพรปีใหม่แทน
                เมื่อพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
                สถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง ๒ เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง ๑๐๐ วัตต์ ออกอากาศด้วยคลื่นสั้นและคลื่นยาวในระบบ AM พร้อมๆ กัน เครื่องส่งรุ่นแรกนี้เป็นเครื่องที่ กรมประชาสัมพันธ์ทูลเกล้าฯ ถวายและติดตั้งให้ด้วยเมื่อออกอากาศไปได้ระยะหนึ่ง และในระบบคลื่นสั้นก็มีจดหมายรายงานผลการรับฟัง เข้ามาจากหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมันฯ เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่ง โดยมีชื่อรหัสสถานีว่า HS1AS ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สถานีวิทยุ อ.ส. ได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบ FM ขึ้นอีกระบบหนึ่ง ในการขยายด้านกำลังส่งนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อให้สถานีวิทยุ อ.ส. สามารถบริการประชาชนได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อาจถือได้ว่าเป็นสถานีวิทยุเอกชนเพียงแห่งเดียวที่สามารถกระจายเสียงคลื่น สั้นได้ ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์
                พระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ ที่ทรงแสดงให้ทราบถึงใจรักที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับประชาชนทั่วทุกคน
                วิทยุอ.ส.ยังได้ทำหน้าที่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชน เช่น การเกิดโรคโปลีโอระบาดในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ อหิวาตกโรคในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และเมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์   มีคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ทำหน้าที่นายสถานี เล่าให้ฟังว่า นโยบายหลักเกี่ยวกับการบริหารงานของสถานี ตามที่พระองค์พระราชทานไว้ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ได้เข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น และทรงรับภาระต่างๆ ด้านสถานีด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้นโยบายประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด และในปัจจุบันนี้สถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยออกอากาศทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ในระบบ AM 1332 KHzและ FM 104 MHz ควบคู่กันไปด้วยกำลังส่ง ๑๐ กิโลวัตต์ โดยออกอากาศวันอังคารถึงวัน เสาร์ เวลา ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ และ ๑๖.๐๐-๑๙.๐๐ วันอาทิตย์ เวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ หยุดทุกวันจันทร์
               
***พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในหลวงรัชกาลที่ ๙..กับกิจการวิทยุสมัครเล่นเมืองไทย

                พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 5 ได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญและ ประโยชน์ในการสื่อสารทางวิทยุ ดังนั้น จึงได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้มีการทดลองรับ-ส่งวิทยุขึ้นเป็นครั้งแรกใน ประเทศไทยเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๔๗ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดผู้แทนของประเทศไทยเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับวิทยุโทรเลขระหว่างประเทศ เป็นครั้งแรก ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ปี พ.ศ. ๒๔๔๙
                แต่เดิมนั้น ยังไม่มีคำศัพท์ภาษาไทยสำหรับคำว่า RADIO โดยเฉพาะ จึงใช้ทับศัพท์ ว่า ราดิโอ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบัญญัติเป็นคำศัพท์ภาษาไทยว่า วิทยุ ซึ่งมาจากคำศัพท์ภาษาบาลีว่า วิชชุ แปลว่า สายฟ้า
                กิจการวิทยุสมัครเล่นได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ โดยนายเสงี่ยม เผ่าทองศุข อดีตรองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ อนุสรณ์ครบรอบ ๕๐ ปี ของการแต่งงาน เสงี่ยม-วัฒนา เผ่าทองศุข ว่า
                ปี พ.ศ.๒๔๗๙ กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้มอบหมายให้นายเสงี่ยม เผ่าทองศุข หัวหน้าแผนกช่างวิทยุ ดำเนินการทดลองวิทยุสื่อสารแบบนักวิทยุสมัครเล่น (Amateur Radio) โดยเครื่องส่งวิทยุโทรเลข กำลัง ๕๐๐ วัตต์ ใช้สัญญาณเรียกว่า HS 1 PJ เป็นความถี่ย่าน ๑๔ เมกะเฮิรตซ์ เริ่มทำการทดลองตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๙ ต่อมาได้ทดลองใช้เครื่องส่งเล็กๆ ที่สร้างขึ้นใหม่ คือ เครื่องที่ใช้สัญญาณเรียกขาน HS 1 RJ กำลัง ๑๐๐ วัตต์ และเครื่องที่ใช้สัญญาณเรียกขาน HS 1 BJ กำลัง ๕ วัตต์ ทดลองสื่อสารทั้งวิทยุโทรเลขและวิทยุโทรศัพท์จนสามารถติดต่อกับสถานีวิทยุ สมัครเล่นในต่างประเทศได้ทั่วทุกทวีป
                วัตถุประสงค์หลัก อาทิ  เพื่อการทดลองติดต่อสื่อสารทางวิทยุกับเพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศในลักษณะงานอดิเรก , เพื่อการศึกษาทดลองค้นคว้าทางวิชาการวิทยุที่กระทำกันขึ้นเองด้วยความสมัคร ใจ และทุนทรัพย์ส่วนตัวของผู้ที่สนใจในวิชาการแขนงนี้ โดยมีความยินดีและพอใจที่จะให้จินตนาการของตนนั้นบังเกิดเป็นรูปธรรมขึ้น และจะมีความยินดีและพอใจยิ่งขึ้น เมื่อภาครัฐ และหรือ ภาคเอกชนนั้นได้นำผลการทดลองค้นคว้าของตนไปพัฒนาสืบต่อให้บังเกิดผลผลิตซึ่ง เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
                ในโอกาสต่อมา ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์เสริมเกี่ยวกับการอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัย พิบัติจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุถล่ม ฯลฯ โดยใช้เครื่องวิทยุสมัครเล่นเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานช่วยเหลือประสบภัยพิบัติดังกล่าว
                ผลการศึกษาค้นคว้าต่างๆ ของนักวิทยุสมัครเล่นตั้งแต่ในยุคต้นๆ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลให้เทคโนโลยีโทรคมนาคมของโลกวิวัฒนาการออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติอย่างแท้จริง
                เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ นายเสงี่ยม เผ่าทองศุข พันโท (ยศขณะนั้น) กำชัย โชติกุล และนายโจนัส เอ็ดดี้ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อ นามสกุลเป็นนายอมฤทธิ์ จิรา) ได้ริเริ่มร่วมกันดำเนินเรื่องขอจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่ง ประเทศไทย ซึ่งในการประชุมใหญ่ครั้งแรก ที่ประชุมได้คัดเลือกให้นายสุรเดช วิเศษสุรการ เป็นนายกสมาคมคนแรก
                มีการจัดตั้งข่ายวิทยุอาสาสมัครขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๔ โดยได้จัดสรรความถี่วิทยุย่าน ๑๔๔-๑๔๖ MHz. หรือที่เรียกว่า "Two Meter Band" ซึ่งเป็นความถี่ในย่านวิทยุสมัครเล่น รวมทั้งการนำเอาประมวลสัญญาณ คือ Q-Codes ที่ใช้ในกิจการวิทยุสมัครเล่นสากล มาใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในข่ายนี้
                 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้อาสาสมัครช่วยเหลือสังคมส่วนรวมโดยการ รายงานข่าวปัญหาสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ในท้องถิ่น ในสาธารณสถานให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องรับทราบและแก้ไขปัญหา ได้ทันเหตุการณ์
ใช้วิธีการรายงานข่าวเช่นเดียวกับการรายงานข่าวการจราจร และข่าวอุบัติภัยของสมาชิกของสถานีวิทยุกระจายเสียง จส.๑๐๐ และ สวพ.๙๑ ในปัจจุบันนี้
                นักวิทยุอาสาสมัครทุกคนจึงได้ถือว่า วันที่ ๕ ธันวาคม เป็นวันสำคัญยิ่งของกลุ่มนักวิทยุอาสาสมัคร และชมรมนี้ได้มีบทบาทในการอาสาสมัครช่วยเหลือบ้านเมืองประเทศชาติในรูปแบบ ต่างๆ มากมายหลายประการ จนเป็นที่ยอมรับของส่วนราชการและสังคมเมืองไทยในขณะนั้น นอกจากนี้ ยังกล่าวได้ว่า กิจการวิทยุอาสาสมัครนี้เองที่ได้ปูรากฐานให้กิจการวิทยุสมัครเล่นของประเทศ ไทย ฟื้นตัวขึ้นใหม่ ก่อตัวเป็นรูปร่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๓๐ และเจริญเติบใหญ่ มีสมาชิกมากมายมาจนทุกวันนี้
                การจัดตั้งชมรมวิทยุอาสาสมัครนี้ได้นำกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบ เมื่อพระองค์ท่านได้รับสั่งว่า เป็นการดี พวกเขา (นักวิทยุอาสาสมัคร) จะได้ภาคภูมิใจ และได้ทรงรับสัญญาณเรียกขาน วีอาร์-๐๐๙   ถวายเป็นสัญญาณเรียกขานประจำพระองค์ พระองค์ท่านได้ทรงเข้าร่วมในข่ายวิทยุอาสาสมัครตั้งแต่วันนั้น
                ชมรมนักวิทยุอาสาสมัครใช้สัญญาณเรียกขานประจำสถานีว่า วีอาร์- (AR-) มิได้ใช้ HS- ดังเช่นนักวิทยุสมัครเล่น เนื่องจากเหตุผลทางด้านบริหารราชการแผ่นดิน
                เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๔ ชมรมฯได้มีโอกาสรับฟังพระราชกระแสของพระองค์ท่านผ่านข่ายวิทยุอาสาสมัคร เป็นครั้งแรก ภายหลังที่นักวิทยุอาสาสมัครได้ร่วมกันกล่าวคำถวายพระพรทางวิทยุในวันพระชนมพรรษาปีนั้นว่า  "วีอาร์ ๐๐๑ จาก วีอาร์ ๐๐๙ ขอขอบใจวีอาร์ทุกคน" นักวิทยุอาสาสมัครทุกคนที่ได้มีโอกาสได้รับฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว บางท่านขนลุกซู่ บางท่านน้ำตาไหลด้วยความปิติยินดีเป็นล้นพ้น
                ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเข้าร่วมในข่ายวิทยุอาสา สมัคร โดยได้ทรงทดสอบสัญญาณ รายงานสถานภาพของสถานี หรือ เช็คเนตกับศูนย์ควบคุมข่าย สายลม ของกรมไปรษณีย์โทรเลขตามระเบียบที่วางไว้เป็นประจำ พระองค์ท่านได้ทรงเคร่งครัดต่อระเบียบข้อบังคับกฎเกณฑ์กติกาของชมรมวิทยุ อาสาสมัคร เช่นเดียวกับนักวิทยุอาสาสมัครทั่วไป ทรงจดจำ....
                ในฐานะที่พระองค์ท่านได้ทรงมีความรู้ และประสบการณ์ในเทคนิคแขนงนี้สูงกว่า เนื่องจากได้ทรงผูกพันอยู่กับเรื่องการสื่อสารทางวิทยุมาก่อนเป็นเวลา นานกว่า ๑๓ ปี จึงทรงพระกรุณาที่จะพระราชทานความรู้เพิ่มเติมให้แก่นักวิทยุอาสาสมัครอยู่ เป็นประจำ โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ ซึ่งเป็นนักวิทยุอาสาสมัคร ตั้งคำถามเกี่ยวกับเทคนิคในการติดต่อสื่อสารทางวิทยุ ในบางโอกาส ได้ทรงเข้าร่วมสนทนาด้วย
                อย่างไรก็ตามนักวิทยุอาสาสมัครหลายท่านได้รับการต่อว่าจากตำรวจท้องที่หลายครั้งว่า ข่าย วิทยุอาสาสมัคร หรือ ข่ายวีอาร์ เข้าไปกวนข่ายวิทยุของตำรวจนครบาลเหนือ (รามา) และนครบาลธนบุรี (กรุงธน) อยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่ความถี่ห่างกันมาก จึงได้หยิบยกปัญหานี้มาออกอากาศ ขอรับคำแนะนำจากผู้รู้ในรายการตอบปัญหาทางอากาศในข่ายวิทยุอาสาสมัครประจำ วัน พระองค์ ได้ทรงพระกรุณากำกับรายการนี้อยู่ จึงได้ทรงหยิบยกประเด็นปัญหานี้มาเฉลยว่า ขอให้ทดลองนำเอาความถี่ของข่ายวีอาร์ (ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะเป็นช่อง ๒ หรือช่อง ๓ เดิม) ไปลบจากความถี่ของตำรวจดูจะได้ผลลัพธ์เท่ากับความถี่ IF ของเครื่องรับ-ส่งวิทยุมือถือ ICOM แบบ ๐๒ N หรือ ๐๒ A คือ ๑๖.๙๐ MHz หารด้วย ๒ หรือ ๘.๔๕ MHz ที่ตำรวจใช้กันอยู่ในขณะนั้นพอดี
                ทางด้านพระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม ซึ่งดาวเทียมไทยคมนับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนองพระราชดำริในเรื่องของการศึกษาทางไกล ทำให้โรงเรียนไกลกังวลเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา ไทยคมอย่างแท้จริง
                เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระปรีชาและพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่มีแก่การสื่อสารมวลชน อย่างหาที่สิ้นสุดมิได้ ...การเมืองชุมชนได้นำมาบันทึกไว้ ณ โอกาสแห่งการถวายความอาลัยนี้.....(ตุลาคม 2559 )


มณสิการ รามจันทร์ ::: เรียบเรียง จากข้อมูลต่างๆจากสื่ออินเตอร์เน็ต




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น