pearleus

วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เสนาธิการทหารเรือ ตรวจศูนย์เข้า ออก เรือประมง

                  วันนี้ (13 มิถุนายน 2558) พลเรือเอก ณะ อารีนิจ เสนาธิการทหารเรือและคณะ ได้เดินทางมาที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า ออก จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายอรุณชัย พุทธเจริญ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นาวาโทพิศาล หาญภักดี หัวหน้าศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า ออก จังหวัดสมุทรสาคร จากฐานทัพเรือภาคที่ 1 (ศรชล.1) ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ และเจ้าหน้าที่จากฝ่ายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ให้การต้อนรับ ซึ่งสถานที่แห่งแรกที่พลเรือเอก ณะ อารีนิจ เสนาธิการทหารเรือและคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมก็คือ ที่องค์กรสะพานปลาสมุทรสาคร เป็นการดูสภาพการเข้าเทียบท่าของเรือประมง การขึ้นปลา ลักษณะการทำงาน อีกทั้งยังเยี่ยมชมการปฏิบัติงานในการตรวจเรือเข้า (Port In) ของศูนย์แจ้งเรือเข้ามหาชัย พร้อมกันนี้ก็ยังได้มีการพูดคุยกับทางไต๋ก๋งเรือ และเจ้าของเรือประมงด้วย
               จากนั้นได้เดินทางไปที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า ออก (Port In – Port Out) จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปภารกิจ การปฏิบัติงาน อุปสรรค และข้อขัดข้องต่างๆ
 สำหรับศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า ออก จังหวัดสมุทรสาคร นับเป็นภารกิจหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10 / 2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 โดยมีศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 1 หรือ ศรชล.เขต 1 เป็นผู้ควบคุมดูแล ซึ่งจะมีหน้าที่ในการรับแจ้งเรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปที่จะ Port In – Port Out ,ตรวจสอบเอกสาร Port in - Port out ของเรือประมงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป (ตามที่รับแจ้ง),ตรวจสอบเรือประมงที่ท่าเรือทั้งกรณี Port in - Port out (ทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ เครื่องมือประมง แรงงาน) , กรอกข้อมูล PIPO เข้าระบบ Fishing Info และ รายงานผลการปฏิบัติต่อ ศรชล.เขต 1 ตลอดจนยังต้องมีการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเรือประมงในจังหวัด โดยในส่วนของท่าเทียบเรือ/แพปลา จังหวัดสมุทรสาคร มีอยู่ทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่ 1. ท่าเทียบเรือกรมประมง  วัดบางหญ้าแพรก ,2. ท่าเทียบเรือกรมประมง กลุ่มทำการประมง มหาชัย,3.สำนักงานสะพานปลา,4.ท่าเทียบเรือ อ.ศิริชัย การประมง,5.ท่าเทียบเรือชัยนาวีการประมง,6.ท่าเทียบเรือปฐมทัศน์,7.ท่าเทียบเรือไทยมารีน (โกเคี้ยง),8.ท่าเทียบเรือท่าจีนยูเนี่ยนพอร์ท,9.ท่าเทียบเรือวัดช่องลม,10.ท่าเทียบเรือสตาร์มารีน และ 11.ท่าเทียบเรือเฮียม้อ
                    ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่พบในการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า ออก คือ กำลังพลในศูนย์ฯ จำนวน 18 ราย  ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ และตรวจเรือเข้า-ออกท่าเรือ ในช่วงที่มีเรือประมงเข้า-ออก จำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติตามภารกิจ เนื่องจากมีจำนวนกำลังพลไม่เพียงพอ ,การลงบันทึกการจับสัตว์น้ำ (Log Book) เป็นการบันทึกประเภท และปริมาณสัตว์น้ำ จากการประมาณการของเจ้าของเรือ และไต๋เรือโดยท่าเรือ/แพปลาส่วนมาก จะลำเลียงสัตว์น้ำ จากเรือประมงขึ้นรถยนต์ และไปยังสถานที่ชั่งน้ำหนัก ทั้งนี้ไม่มีการชั่งวัดบริเวณท่าเรือ,เจ้าหน้าที่กรมประมงชุดตรวจเรือ ยังขาดเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจเครื่องมือทำการประมง เช่น เครื่องวัดขนาดของอวน (เวอร์เนีย) และความชำนาญในการตรวจเครื่องมือทำการประมงของเรือประมง ทั้งนี้กรมประมงอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข,จังหวัดสมุทรสาคร ได้ให้การสนับสนุนพาหนะเดินทางพร้อมเจ้าหน้าที่ขับรถยนต์ ให้กับเจ้าหน้าที่ชุดตรวจเรือในช่วงวันราชการ ทั้งนี้ในช่วงวันหยุดราชการใช้พาหนะส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ ออกตรวจเรือ (ระหว่างรอรับมอบพาหนะประจำศูนย์ฯ),เรือประมงที่ใบอาชญาบัตรผิดประเภทเครื่องมือ และไม่มีใบอาชญาบัตร ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กรมประมงควบคุมไม่สามารถออกใบอาชญาบัตรให้ได้ เกิดความสับสนและยังไม่มั่นใจ หน่วยงานรัฐจะใช้มาตรการหรือดำเนินการอย่างไร จึงยังไม่ได้ดำเนินการเตรียมเรือ

ทำใบอนุญาตทำงานของแรงงาน จัดซื้ออุปกรณ์ VMS เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่มั่นใจในการประกอบอาชีพประมง





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น